กรุงเทพฯ 27 พ.ย. – “อภิสิทธิ์” ติงโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มความเหลื่อมล้ำ ร้านธงฟ้าประชารัฐผูกขาดขายแพง แนะโอนเงินเข้าบัญชีผู้มีรายได้น้อย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ว่า โครงการนี้สร้างปัญหาใหม่ เพราะผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหลายคนที่ได้ 200-300 บาทต่อเดือน ต้องเดินทางเสียค่าใช้จ่ายไปหาร้านที่จะรับบัตร เพราะร้านที่อยู่ในโครงการนี้จะต้องเป็นร้านธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งมีประมาณ 10,000 แห่งทั่วประเทศ ส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อยใช้บัตรได้เพียงร้านธงฟ้าร้านเดียวในชุมชน ส่งผลกระทบต่อร้านค้าเล็ก ๆ และตลาดสดในชุมชน เสียธุรกิจ เงินก็ไม่หมุนเวียน ซึ่งแบบนี้ความจริงไม่ได้ยาก หากรัฐบาลโอนเงินไปให้คนละ 200 – 300 บาท ก็จบตั้งแต่ต้น
นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไข คือ ร้านธงฟ้าประชารัฐกลายเป็นการผูกขาดในพื้นที่ ร้านธงฟ้าเหล่านี้ขายสินค้าแพงกว่าที่อื่น เพราะถึงอย่างไรผู้มีรายได้น้อยก็ต้องไปซื้อสินค้าที่ร้านธงฟ้า เนื่องจากใช้สิทธิ์ได้ นับเป็นตัวอย่างของนโยบายเพิ่มการผูกขาด เพิ่มความเหลื่อมล้ำ เชื่อว่าไม่ได้ตั้งใจ ส่วนนโยบายจัดระเบียบทางเท้าไม่มีการค้าขาย ทำให้เกิดปัญหาตามมา 2 ประการ ประการ แรกผู้ค้าสูญเสียรายได้ ประการที่ 2 แหล่งอาหารราคาถูกสำหรับคนทำงานในกรุงเทพฯ จำนวนมหาศาลหายไป
นายอภิสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาพเศรษฐกิจปัจจุบันแม้ตัวเลขภาพรวมมีแนวโน้มดีขึ้น ล่าสุดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะเติบโตเกินร้อยละ 4 ซึ่งดีกว่าที่เคยคาดการณ์ แต่ยังเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำที่สุดในภูมิภาคและเป็นการรับรู้ในกลุ่มคนจำนวนน้อยมาก ขณะที่คนจำนวนมากในชนบทและภาคการเกษตร ไม่ได้มีความรู้สึกเลยว่าเศรษฐกิจดีขึ้น เป็นการตอกย้ำปัญหาความเหลื่อมล้ำ ดังนั้น ขณะนี้จึงมีความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจ 3 มิติ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดภาวะการเมืองที่จะเกิดขึ้นต่อไปและได้รับผลกระทบโดยตรงจากพัฒนาการทางด้านการเมืองด้วย
มิติแรก คือ ความท้าทายจากปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าที่แม้รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การแก้ไขปัญหาไม่ได้ผล เพราะยังมีปัญหาใหญ่สุดที่ยังไม่รับการแก้ไข คือ กำลังซื้อของเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ส่วนมาตรการช้อปช่วยชาติก็เป็นการช่วยเหลือคนซื้อที่มีกำลังซื้ออยู่แล้วเท่านั้น คนที่ไม่มีกำลังซื้อก็ไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ เป็นต้น
มิติที่สอง คือ มิติปัญหาขีดความสามารถทางการแข่งขันถดถอย ซึ่งรัฐบาลรับรู้ มีท่าทีและจุดยืนในการแก้ไขปัญหา ด้วยนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่จะมีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC และมีการวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่จะสมารถนำไปสู่เป้าหมายได้จริงหรือไม่ ที่ผ่านมารัฐบาลตั้งคณะทำงานเร่งแก้ไขกฎหมายทางธุรกิจ ซึ่งหากนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ กฎกระทรวงรวมถึงระเบียบต่าง ๆ แล้ว ประเทศไทยมีกฎหมายรวมประมาณกว่า 100,000 ฉบับ ขณะที่คณะทำงานแก้ไขเกือบจะ 2 ปี ยังไม่สามารถที่จะสังคายนากฎหมายได้ทั้งหมด แต่ระหว่างนี้รัฐบาลออกกฎหมายใหม่มาอีกกว่า 200 ฉบับ ซึ่งเป็นระดับพระราชบัญญัติบวกกับคำสั่ง คสช.และกฎหมายที่ออกมาในช่วงนี้ เป็นกฎหมายที่เพิ่มอำนาจภาคราชการ ซึ่งไม่สอดคล้องกับการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ และยังมีประเด็นเรื่องการเตรียมพร้อมกำลังคนอีกด้วย
ส่วนความท้าทายที่ 3 คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ รัฐบาลแก้ไขปัญหาเสมือนแก้ที่ปลายเหตุ ตัวเลขที่น่ากลัว คือ ขณะที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจกล้าพูดว่าปีหน้าความยากจนหรือคนจนจะไม่มีแล้ว แต่ข้อเท็จจริง คือ ปีที่ผ่านมาคนจนเพิ่มขึ้น สถิติระบุอย่างนั้นและเป็นห้วงเวลาแรกที่คนจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นทั้ง ๆ ที่ไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจ คนจนเคยเพิ่มขึ้นในอดีตช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งและวิกฤตเลห์แมนบราเธอร์ส แต่ขณะนี้คนจนเพิ่มขึ้น ขณะที่รัฐบาลระบุว่าเศรษฐกิจกำลังดีขึ้น สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นความท้าทายใน 3 มิติดังกล่าว คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ความสามารถในการแข่งขันและปัญหาความเหลื่อมล้ำกลายเป็นปัญหาใหญ่ หากไม่ปรับวิธีคิด วิธีการบริหารทางเศรษฐกิจจะเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงมากขึ้น. -สำนักข่าวไทย