นนทบุรี 23 พ.ย. – สถาบัน GIT เชิญชวนประชาชนร่วมสนับสนุนผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาชุมชน “สู่เมือง เลื่องชื่ออัตลักษณ์” ส่งทีมลงพื้นที่ตามหาช้างเผือก 15 จังหวัด 6 ภูมิภาค เตรียมเข้าไปพัฒนาผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับท้องถิ่นให้มีดีไซน์ทันสมัย หวังสร้างโอกาสโกอินเตอร์ พร้อมจับมือหน่วยงานที่เกี่ยวพัฒนาแหล่งผลิตเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ดึงนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติเข้าไปเยี่ยมชม
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า ขณะนี้ GIT กำลังจัดส่งทีมงานผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ไปยังจังหวัดเป้าหมายที่เป็นแหล่งผลิตอัญมณีและเครื่องประดับที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น 15 จังหวัด ใน 6 ภูมิภาค เพื่อเข้าไปช่วยพัฒนาด้านการผลิต การออกแบบ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือด้านการตลาด เพื่อให้สินค้าเหล่านี้มีการพัฒนารูปแบบให้ทันสมัยและสามารถจำหน่ายได้เพิ่มขึ้น
สำหรับ 15 จังหวัด 6 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือที่เชียงใหม่ น่าน แพร่ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับเงินและพลอยสี , ภาคกลาง (ตอนบน) สุโขทัย เป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับทองและเงิน , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา มหาสารคาม สุรินทร์ เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผา เงิน และพลอยสี , ภาคตะวันออกจันทบุรี ตราด เป็นแหล่งผลิตพลอยสี , ภาคตะวันตก ตาก กาญจนบุรี เพชรบุรี เป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับทอง และนิล และภาคใต้ ภูเก็ต พังงา สตูล เป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับจากไข่มุก
“ผู้เชี่ยวชาญที่ลงพื้นที่จะช่วยพัฒนาด้านเทคนิคการผลิต การให้ความรู้ผู้ประกอบการท้องถิ่นให้มีการผลิตสินค้าให้มีความทันสมัยมากขึ้น แต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างโอกาสจำหน่ายเพิ่มขึ้น โดยจะคัดเลือกสินค้าที่ผ่านการพัฒนามาจัดแสดงและจำหน่ายที่มิวเซียม แกลลอรี่ และแกลลอรี่ ชอป ของสถาบันฯ และนำไปออกงานแสดงสินค้าในงาน Bangkok Gems & Jewelry Fair ทำให้มีโอกาสค้าขายต่างประเทศเพิ่มขึ้น” นางดวงกมล กล่าว
นอกจากนี้ GIT ได้วางแผนพัฒนาศักยภาพการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน กลุ่มเครื่องปั้นดินเผาหมู่บ้านด่านเกวียน เบื้องต้นใช้ชิ้นงานอัตลักษณ์ท้องถิ่นนำมาทำเป็นเครื่องประดับ มีการนำวัสดุต่าง ๆ อาทิ เชือก หนัง เม็ดโลหะเงิน และพลอย เป็นต้น มาผสมผสานร้อยเรียงเป็นลวดลายแปลกใหม่ ทำให้ชิ้นงานมีความน่าสนใจมากขึ้น เพื่อให้ชุมชนสามารถต่อยอดของฝีมือแรงงาน รวมทั้งสามารถสร้างรายได้ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้าให้สูงขึ้น จากเดิมเครื่องปั้นดินเผาจะมีองค์ประกอบเพียงแค่ดินและทองเหลือง รวมถึงใช้สีฝุ่นในการผสม หรือวาดลวดลายเท่านั้น
นางดวงกมล กล่าวว่า สถาบันฯ ยังสนับสนุนสินค้าท้องถิ่นอย่างเต็มที่ด้วยการจัดกิจกรรม “ของขวัญปีใหม่จากท้องถิ่นสู่เมืองเลื่องชื่ออัตลักษณ์” รวบรวมผลิตภัณฑ์เครื่องประดับ – เครื่องใช้ จากชุมชนต่าง ๆ เช่น เครื่องประดับที่ทดลองพัฒนารูปแบบอันทันสมัยจากดินด่านเกวียนจากนครราชสีมา เครื่องเงินบ้านกาดและวัวลายจากเชียงใหม่ และเครื่องประดับแก้วมูราโน่ที่กำลังเป็นที่นิยมทั่วโลกจากภูเก็ต มาจำหน่ายในราคาพิเศษ โดยขอเชิญเยี่ยมชมและซื้อสินค้าได้ที่สถาบัน GIT อาคารไอทีเอฟ-ทาวเวอร์ ชั้น 1 ถนนสีลม เวลา 9.30 – 17.00 น. วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่วันนี้ – 15 ธันวาคม 2560 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่นให้มีรายได้และผลักดันชื่อเสียงสินค้าโอทอปจากภูมิภาคสู่ระดับโลกอย่างแท้จริง.-สำนักข่าวไทย