พิษณุโลก 22 พ.ย. – เกษตรกรในทุ่งบางระกำ ซึ่งปกตินาจะถูกน้ำท่วมเสียหาย ขาดทุนทุกปี แต่ปีนี้ ก.เกษตรฯ ทำโครงการ “บางระกำโมเดล” ประสบผลสำเร็จ ชาวนาได้ข้าวเต็มเม็ดเต็มหน่วย และยังจับปลาเป็นอาชีพเสริมตอนหน้าน้ำ
ผลผลิตข้าวพันธุ์พิษณุโลก 2 จากทุ่งบางระกำ มีจำหน่ายทั้งในท้องที่และส่งออกไปภายนอก ชาวนาจับปลามาขายในช่วงน้ำหลากลงทุ่งหลังเกี่ยวข้าวแล้ว มีทั้งปลาสด ปลาแดดเดียว น้ำปลา และปลาร้า
ปีนี้เป็นปีแรกที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ปรับเปลี่ยนห้วงเวลาทำนาทุ่งบางระกำ ซึ่งประกอบด้วย อ.บางระกำ อ.พรหมพิราม บางส่วนของ อ.เมือง และ อ.ท่าโบสถ์ จ.พิษณุโลก รวมถึง อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย จากเดิมเริ่มทำเมื่อเข้าฤดูฝน กลางเดือนพฤษภาคม แต่กรมชลประทานส่งน้ำให้ปลูกข้าวได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เกษตรกรเกี่ยวข้าวได้ไม่หมดภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม ทันก่อนน้ำหลาก เมื่อน้ำมา กรมประมงนำพันธุ์ปลามาปล่อย เกษตรกรจึงได้อาศัยจับปลา ทั้งกินและขาย มีรายได้ดีขึ้นกว่าปีก่อนๆ มาก
ทุ่งบางระกำ ซึ่งมีพื้นที่ 265,000 ไร่ รับน้ำไว้ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร มา 3 เดือนแล้ว กรมชลประทานเริ่มระบายออกทั้งทางคูคลองและระบบชลประทาน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนบริหารจัดการน้ำ ช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลสู่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างได้มาก
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน ระบายออกวันละ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร สู่แม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน ซึ่งจะเสร็จสิ้นต้นเดือนธันวาคม โดยคงเหลือน้ำไว้ในทุ่งสูงประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อใช้ทำนาปรังได้เลย ประหยัดน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งปกติต้องขอมาใช้ทุกปี แต่ปีนี้ยังคงเก็บน้ำในเขื่อนไว้ใช้ยามจำเป็นในหน้าแล้ง. – สำนักข่าวไทย