นครราชสีมา 20 พ.ย.- มทส.เปิดตัวนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ “เรืออัตโนมัติกำจัดลูกน้ำยุง” ตอบโจทย์การใช้งานในแหล่งน้ำขังขนาดใหญ่และพื้นที่จำกัดได้สำเร็จ พร้อมจดสิทธิบัตรแล้ว
รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นประธานแถลงผลงานวิจัย “เรืออัตโนมัติกำจัดลูกน้ำยุง” วันนี้ (20 พ.ย.) ที่ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มทส.ว่า นักวิชาการทีมวิจัยทั้งจากวิศวกรรมศาสตร์ วิศวกรรมเครื่องกล และอีกหลายฝ่ายร่วมกันศึกษาวิจัยคลื่นอัลตราโซนิคในย่านความถี่ที่เหมาะสมในการกำจัดลูกน้ำยุงได้สำเร็จ โดยไม่ส่งผลกระทบกับสัตว์น้ำชนิดอื่น ไม่ทำลายหรือสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้พัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 กระทั่งประสบความสำเร็จ ทางมหาวิทยาลัยได้น้อมเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2560 เพื่อทรงใช้ตามพระราชอัธยาศัยภายในวังสระปทุม ถือเป็นอีกผลงานวิจัยและนวัตกรรมหนึ่งที่นำความภาคภูมิใจมาสู่มหาวิทยาลัย ซึ่งได้จดสิทธิบัตรไว้เรียบร้อยแล้ว สถานประกอบการ หน่วยงาน องค์กรที่สนใจ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สำนักงานจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี เทคโนธานี โทรศัพท์ 0 4422 4825
รศ.เรืออากาศเอก ดร.กนต์ธร ชำนิประศาสน์ คณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้พัฒนาต่อยอดขึ้นมาจากเครื่องกำจัดลูกน้ำยุงคลื่นอัลตราโซนิค ระบบ 1 หัวจ่าย ที่ประสบความสำเร็จจากงานวิจัยในปี 2553 และนำไปมอบให้หน่วยงานต่าง ๆ ใช้งานกว่า 200 เครื่อง พบว่าการใช้งานยังมีพื้นที่เป็นข้อจำกัด อาทิ แหล่งน้ำขังขนาดใหญ่และท่อระบายน้ำ จึงได้พัฒนางานวิจัยโดยสร้างเรืออัตโนมัติกำจัดลูกน้ำยุงให้มีสมรรถนะครอบคลุมและเหมาะสมในการใช้งาน โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ใช้ระยะเวลาออกแบบและสร้างชิ้นงาน 6 เดือน
ด้าน รศ.ดร.ชาญชัย ทองโสภา หัวหน้าสถาบันวิจัย สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ และอาจารย์ ดร.ชโลธร ธรรมแท้ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถสกัดกั้นการเจริญเติบโตและแพร่กระจายของโรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะได้เป็นอย่างดี ส่วนต้นทุนการผลิตต่อลำประมาณ 100,000 บาท ตัวเรือเป็นไฟเบอร์กลาส ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความแข็งแรงต่อน้ำหนักสูง ทนต่อการกัดกร่อนของสารเคมี ระบบขับเคลื่อนใช้หลักการ Thrust Vectoring เป็นการควบคุมทิศทางของแรงขับโดยตรง ไม่ใช้หางเสือ เพื่อให้เรือสามารถเลี้ยวมุมแคบได้ดี รัศมีวงเลี้ยว 1 เมตร การควบคุมเรือทำได้ทั้งแบบบังคับเอง (manual) ผ่านรีโมทคอนโทรล และแบบอัตโนมัติ.-สำนักข่าวไทย