กรุงเทพฯ 20 พ.ย. – 3 สมาคมน้ำตาลทรายพร้อมเจรจาส่วนแบ่งรายได้ หากจะนำผลพลอยได้อื่นมาแบ่งรายได้เพิ่มจากกากน้ำตาล
นายสิริวุทธ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมน้ำตาลทราย กล่าวว่า ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) อยู่ระหว่างแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 หากจะแก้ไข เพื่อเปิดทางให้สามารถนำรายได้จากผลพลอยได้อื่น ๆ นอกเหนือจากปัจจุบันที่นำรายได้จากน้ำตาลทรายและกากน้ำตาลเข้าระบบแบ่งปันผลประโยชน์ โดยชาวไร่ได้รับผลประโยชน์ร้อยละ 70 โรงงานน้ำตาลร้อยละ 30 นั้น ทาง 3 สมาคมน้ำตาลทรายพร้อมหารือกับชาวไร่อ้อยและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องภายใต้พื้นฐานหลักการคำนวณส่วนแบ่งรายได้ที่เป็นธรรม เนื่องจากชาวไร่อ้อยและผู้ที่เกี่ยวข้องเปรียบเสมือนครอบครัวเดียวกัน
นายสิริวุทธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาโรงงานมีภาระที่ต้องบริหารจัดการสิ่งที่เป็นของเสียหรือ WASTE จากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เช่น กากน้ำตาล ซึ่งเดิมกากน้ำตาลไม่มีราคาที่แน่นอนและเคยนำกากน้ำตาลไปใช้ราดถนนเพื่อลดฝุ่น ของเสียเหล่านั้นเป็นภาระของผู้ประกอบการ โรงงาน ซึ่งผลักดันให้ผู้ประกอบการโรงงานต่าง ๆ ต้องศึกษาคิดค้น วิธีการขจัดของเสียเหล่านั้น หรือนำเทคโนโลยีใหม่มาปรับของเสียเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ เช่น นำกากน้ำตาลผลิตแอลกอฮอล์หรือสุราแทนการใช้ข้าวเหนียว การดำเนินการดังกล่าวผู้ประกอบการต้องลงทุนก่อสร้างโรงงานใหม่ อย่างไรก็ตาม ต่อมามีการขอให้นำ กากน้ำตาลมาคิดเป็นผลพลอยได้ ซึ่งได้มีการเจรจาระหว่างผู้ประกอบการกับชาวไร่อ้อย และภาคราชการ จนได้ข้อสรุปให้นำรายได้จากกากน้ำตาลเข้าสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์มาแล้ว
ส่วนเอทานอลที่ผลิตได้จากกากน้ำตาล คณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ขาดไปแล้วว่าผู้ประกอบการผลิตเอทานอลซื้อกากน้ำตาลไปผลิตอีกทอดหนึ่ง ดังนั้น จึงไม่สามารถนำรายได้จากเอทานอลเข้าสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันของเสียในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลยังมีอีกหลายประเภท ซึ่งผู้ประกอบการโรงงานจะบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์คุ้มกับภาระค่าใช้จ่ายในการขจัดของเสียเหล่านั้น อาทิ ชานอ้อย น้ำเสีย ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการโรงงานพัฒนาการบริหารจัดการของเสียเหล่านั้น ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการนำเอาชานอ้อยไปผลิตไฟฟ้า การดำเนินการดังกล่าวผู้ประกอบการต้องลงทุน บริหารจัดการเป็นเงินลงทุนไม่น้อย ดังนั้น การจะนำเอารายได้จากกิจการดังกล่าวเข้าสู่ระบบแบ่งรายได้อีกนั้น ทาง 3 สมาคมน้ำตาลทรายพร้อมที่จะหารือภายใต้พื้นฐานความเป็นธรรม เพราะธุรกิจล้วนมีความเสี่ยงในการลงทุน
ส่วนการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศที่จะส่งผลให้การจัดเก็บเงิน 5 บาท เข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ที่เดิมเก็บจากผู้บริโภคน้ำตาลโดยตรงจะไม่มีอีกต่อไปนั้น ทาง 3 สมาคมเห็นว่า กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมีภาระหน้าที่ดูแลเสถียรภาพระบบอ้อยและน้ำตาลทรายในประเทศ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หลายด้านทั้งการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย รวมถึงการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอ้อยอยู่แล้ว ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องพิจารณาจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ จากรายได้ของอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายต่อไป โดยอาจจัดเก็บสัดส่วนร้อยละ 0.5-2 ของราคาน้ำตาลทรายที่ผลิตได้แต่ละฤดูการผลิต ซึ่งอัตราการจัดเก็บจะผันแปรไปตามสภาวะราคาน้ำตาลทรายหลังลอยตัวราคาแล้ว ซึ่งจะทำให้มีรายได้เข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายต่อเนื่อง ปัจจุบันเรื่องนี้ยังอยู่ในช่วงของการเจรจาถึงความเหมาะสมว่าจะจัดเก็บอัตราใดดี ที่เหมาะสมที่สุด
ปัจจุบันสถานะกองทุนฯ ยังมีหนี้เงินกู้ที่ขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คงค้างประมาณ 6,000 ล้านบาท คาดว่าจะชำระหนี้เสร็จภายในฤดูการผลิต 2560/2561 ทันกับช่วงการปล่อยลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศ.-สำนักข่าวไทย