กรุงเทพฯ 20 พ.ย. – รฟม. แถลงแผนการเตรียมพื้นที่สำหรับงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ช่วยผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เป็นประธานในงานแถลงข่าวการปิดเบี่ยงจราจรเพื่อทำ เข็มทดสอบและรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค สำหรับการเตรียมงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี โดยมี พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ด้านจราจร) และนายวิฑูรย์ สลิลอำไพ ผู้แทนจาก บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ร่วมแถลง
นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี เป็นหนึ่งในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หรือ M-MAP เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ด้านเหนือของกรุงเทพมหานคร โดยแนวเส้นทางเริ่มต้นที่สถานีศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี ซึ่งถือเป็นจุดเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ บริเวณใกล้แยกแคราย ผ่านถนนติวานนท์จนถึงห้าแยกปากเกร็ด แล้วจึงเลี้ยวเข้าถนนแจ้งวัฒนะผ่านเมืองทองธานี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่แยกหลักสี่บริเวณริมถนนวิภาวดี-รังสิต และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ บนถนนพหลโยธินบริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญเข้าสู่ถนนรามอินทรา สิ้นสุดปลายทางที่สถานีมีนบุรี ซึ่งจะบรรจบกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี รวม 30 สถานี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง และอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง บริเวณสถานีมีนบุรี
ซึ่งปัจจุบันโครงการอยู่ในช่วงของการเข้าพื้นที่ เพื่อเริ่มดำเนินการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคสำหรับเตรียมพื้นที่โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า ซึ่งในวันนี้จะเริ่มปิดเบี่ยงช่องจราจรถนนติวานนท์ บริเวณคลองบางตลาด ถึงกรมชลประทาน และบริเวณถนนรามอินทราตรงข้ามสถานีตำรวจทางหลวง 2 กองบังคับการ 8 เพื่อดำเนินงานเข็มทดสอบ ซึ่งเป็นการทดสอบการรองรับน้ำหนักของเสาเข็ม และจะดำเนินงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 นี้อีกด้วย
ด้าน นายวิฑูรย์ สลิลอำไพ ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรม บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เปิดเผยว่า สำหรับการปิดเบี่ยงช่องจราจร เพื่อดำเนินงานเข็มทดสอบนั้น จะดำเนินการ 2 จุด ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 จนถึง 15 มีนาคม 2561 ได้แก่ จุดแรก ถนนติวานนท์ บริเวณคลองบางตลาดถึงกรมชลประทาน ระยะทางประมาณ 210 เมตร ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 จะปิดการจราจรช่องทางขวาสุด (ชิดเกาะกลางถนน) 1 ช่องจราจร ทั้งขาเข้า – ขาออก ตลอด 24 ชั่วโมงและปิดการจราจรเพิ่มอีก 1 ช่องทาง (ขาออก) ในช่วงเวลา 22.00 – 04.00 น. จุดที่ 2 ถนนรามอินทรา บริเวณฝั่งขาเข้า ตรงข้ามสถานีตำรวจทางหลวง 2 กองบังคับการ 8 (ใกล้ศูนย์การค้าแฟชั่น ไอซ์แลนด์) ระยะทางประมาณ 200 เมตร ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 ถึง วันที่ 15 มีนาคม 2561 จะปิดการจราจรช่องทางซ้ายสุด 1 ช่องจราจร บริเวณฝั่งขาเข้า ตั้งแต่เวลา 22.00 – 04.00 น. เฉพาะวันที่มีการขนย้ายเครื่องจักรหนักและวันที่มีงานเทคอนกรีต
ส่วนในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป โครงการจะเริ่มปิดเบี่ยงจราจรเพื่อดำเนินงานในส่วนรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน โดยจะทยอยดำเนินการรื้อย้ายในช่วงสั้นๆ ช่วงละประมาณ 200 เมตร เมื่อรื้อย้ายแล้วเสร็จจะคืนผิวจราจรก่อน จากนั้นจึงจะขยับปิดผิวจราจรช่วงใหม่อีก 200 เมตร ดำเนินการเช่นนี้ ไปจนเสร็จ ยกเว้น 8 จุดสำคัญที่จำเป็นต้องปิดการจราจรเพิ่มเติมอีก 1 ช่องจราจร ในช่วงเวลา 22.00 – 04.00 น. ได้แก่ 1.บริเวณเชิงสะพานพระราม 4 (PK 6 – PK 7) 2.บริเวณคลองประปา – เชื่อมสู่ถนนวิภาวดีรังสิต (PK 11 – PK 13) 3.บริเวณวงเวียนบางเขน (PK 16 – PK 17) 4.บริเวณสนามกอล์ฟทหารบก (PK 17 – PK 18) 5.บริเวณแยกลาดปลาเค้า (PK 18 – PK 23) 6.บริเวณแยกคู้บอน – ถนนรามอินทรา 87 (PK 23 – PK 24) 7.บริเวณคลองบางชัน (PK 26) และ 8. บริเวณแยกเมืองมีน (PK 28 – PK 29)
ด้าน พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร เปิดเผยว่า การปิดเบี่ยงจราจรในบริเวณถนนติวานนท์นั้น คาดว่าไม่ส่งผลกระทบมากนัก เนื่องจากบริเวณที่ปิดการจราจรมีปริมาณรถไม่หนาแน่น ยกเว้น ช่วงเช้าและช่วงเย็น แต่สำหรับการปิดการจราจรบริเวณถนนรามอินทรานั้น อาจมีรถติดสะสมได้ จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงเส้นทาง โดยสามารถใช้ถนนปัญญาอินทรา ถนนเสรีไทย หรือขึ้นทางด่วนอาจณรงค์ – รามอินทรา หน้าศูนย์การค้าแฟชั่น ไอซ์แลนด์ ทดแทนได้ ส่วนกรณีการปิดเบี่ยงจราจรเพื่อรื้อย้ายสาธารณูปโภคนั้น เบื้องต้นคาดว่าจะไม่มีการปิดจุดกลับรถในพื้นที่ และเน้นการปิดกั้นเพียงช่องจราจรเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังได้จัดเส้นทางสำหรับหลีกเลี่ยงการจราจรไว้หลายเส้นทาง เช่น ถนนติวานนท์ สามารถเลี่ยงเข้าสู่ถนนสามัคคี เพื่อไปยังถนนประชาชื่นหรือถนนเลี่ยงเมืองปากเกร็ดได้ ส่วนถนนแจ้งวัฒนะ สามารถเลี่ยงเข้าซอยแจ้งวัฒนะ 14 เพื่อออกสู่ถนนกำแพงเพชร 6 ด้านถนนพหลโยธิน สามารถเลี่ยงเข้าซอยพหลโยธิน 48 เพื่อออกสู่ถนนรามอินทรา และจากถนนรามอินทรา สามารถเลี้ยวเข้าซอยมัยลาภเพื่อออกสู่ถนนเกษตร-นวมินทร์ หรือเข้าซอยรามอินทรา 39 เพื่อออกสู่ถนนวัชรพลและถนนสุขาภิบาล 5 ได้ ยังสามารถเลี้ยวเข้าถนนปัญญาอินทรา หรือถนนพระยาสุเรนทร์ เพื่อมุ่งหน้าสู่ ถนนหทัยราษฎร์ เป็นต้น ซึ่งแผนการจัดจราจรดังกล่าว น่าจะช่วยระบายรถออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในอนาคตอาจมีการปรับแผนการจัดจราจรเพิ่มเติม เมื่อมีการปิดถนนจริง เพื่อให้ประชาชนที่ใช้รถใช้ถนน ได้รับความสะดวกมากที่สุด – สำนักข่าวไทย