กรุงเทพฯ 14 พ.ย. – ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ไทยเตือนอาจเกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกปี 62 หากยังเปิดตัวโครงการต่อเนื่องจนล้นตลาด
นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ไทย หรือ AREA แถลงวิเคราะห์ภาคสนามโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ และปริมลฑลเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่า มีการก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ รวมถึงโครงการอาคารชุด จนถึงสิ้นปีนี้จะมีมูลค่าสูงถึง 440,000 ล้านบาท สูงที่สุดในรอบ 23 ปี โดยจำนวนนี้เป็นโครงการอาคารชุดถึงร้อยละ 60 และร้อยละ 70 ก่อสร้างตามแนวรถไฟฟ้ามีมูลค่ารวม 184,000 ล้านบาท หากสถานการณ์การเปิดตัวโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีปริมาณเท่ากับปีนี้ต่อเนื่องไปจะเกิดภาวะฟองสบู่และมีความเสี่ยงอาจเกิดภาวะล้นตลาดและมีโอกาสภาวะฟองสบู่แตกในปี 2562 ได้
ส่วนโครงการอาคารชุดที่สร้างเสร็จในช่วง 6 -36 เดือน มีจำนวนรวม 117,250 หน่วย ส่วนมาก 107,096 หน่วย หรือร้อยละ 91 ขายไปแล้ว เหลือในมือนักพัฒนาที่ดิน 10,154 หน่วย มีผู้เข้า 71,864 หน่วย หรือร้อยละ 61 คิดเป็นร้อยละ 67 ของหน่วยที่มีผู้ซื้อไปทั้งหมด หรือประมาณ 2 ใน 3 ที่เหลืออีก 1 ใน 3 ยังไม่ได้เข้าอยู่ ผู้เข้าอยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นคนไทยคิดเป็นร้อยละ 84 ส่วนที่เหลืออีก 16 เป็นชาวต่างชาติ ภาวะธุรกิจอาคารชุดที่เกิดขึ้นนี้แสดงให้เห็นว่าภาวะตลาดยังดีพอสมควรไม่ได้เลวร้ายไม่ได้สร้างแล้วร้างแต่อย่างใด
ด้านอัตราผลตอบแทนจากการเช่าอยู่ที่ร้อยละ 4.5 หากห้องเช่าราคา 1 ล้านบาท จะได้ผลตอบแทนสุทธิปีละ 45,000 บาท หรือเดือนละ 3,750 บาท ส่วนค่าเช่าตลาดควรอยู่ที่ประมาณเดือนละ 4,700 บาท อัตราผลตอบแทนนี้ ลดต่ำลงกว่าเมื่อ 2 ปีก่อน ที่ประเมินไว้ร้อยละ 5.8 ทั้งนี้ เพราะอุปทานอาจมีมากขึ้นจึงทำให้ค่าเช่ารถลงตามลำดับ ส่วนกรณีค่าเช่าต่อตารางเมตรนั้น พบว่า ค่าเช่าเพิ่มขึ้นเป็นตารางเมตรละ 416 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ ค่าเช่าต่อตารางเมตรสูงสุด คือ บริเวณสุขุมวิท ซอย 1 – 71 คิดเป็นเงินตารางเมตรละ 758 บาท ซึ่งสูงกว่าหรือพอ ๆ กับค่าเช่าอาคารสำนักงานใจกลางเมือง ส่วนต่ำสุด คือ ย่านแจ้งวัฒนะ ซึ่งต่อไปจะมีรถไฟฟ้าสายสีชมพู ค่าเช่าคิดเป็นเงินตารางเมตรละเพียง 265 บาทต่อเดือนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากมีการเก็งกำไรเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง เช่นบางโครงการขณะนี้สามารถขายกระดาษหรือใบจองหมดภายในเวลา 1-3 วัน หรือ 1 สัปดาห์เป็นต้น ทำให้เกิดภาวะตกต่ำในที่สุด เพราะผู้ซื้อส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 60 เป็นนักเก็งกำไรรอขายหรือรอปล่อยเช่า หากการเก็งกำไรมากอาจทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ กระแสเงินสดของนักพัฒนาที่ดินโดยเฉพาะรายใหญ่แปรปรวน การโอนอาจมีปัญหา หุ้นกู้ของบริษัทมหาชนอาจใช้คืนไม่ได้ และภาวะฟองสบู่แตกจะตามมาได้ ดังนั้น การจะลงทุนซื้อห้องชุดหรือพัฒนาอาคารชุด หรือให้สินเชื่อโครงการเหล่านี้ จึงควรทำการศึกษาภาวะตลาดให้ดีก่อนตัดสินใจ.- สำนักข่าวไทย