สนามหลวง 10 พ.ย.-ยอดนักเรียนนักศึกษาเข้าชมนิทรรศการพระเมรุมาศมากกว่าทุกวัน ด้านรมว.ศธ.นำนักเรียนพิการ-ด้อยโอกาสกว่า 7,000 คนเข้าชมหวังเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านนิทรรศการ ขณะที่กอร.รส.เน้นย้ำ ห้ามสัมผัสสิ่งของในนิทรรศการ
บรรยากาศโดยรอบมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ยังมีประชาชนจากทั่วสารทิศเดินทางหลั่งไหลเข้าชมนิทรรศการเนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้ (10 พ.ย.) ได้รับความสนใจจากประชาชนเเละนักเรียนนักศึกษาจำนวนมากที่เดินทางมากับโรงเรียนกันเป็นหมู่คณะ โดยช่วงเช้า นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นำนักเรียนพิการหรือมีความบกพร่องทางร่างกายทั้งทางสติปัญญา การได้ยินเเละการมองเห็น รวมถึงนักเรียนด้อยโอกาสที่อยู่ตามชายขอบ จากโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนเฉพาะความพิการ จำนวน 7,753 คนจากทั่วประเทศ เข้าชมนิทรรศการ เพื่อให้เด็กๆได้เกิดการเรียนรู้ผ่านนิทรรศการอันทรงคุณค่าเเละเป็นประวัติศาสตร์ของคนไทย ขณะที่น้องๆก็รู้สึกดีใจที่ได้มาชมเเละน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่9
เจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า วันนี้มีโรงเรียนติดต่อขอนำนักเรียนเข้าชมนิทรรศการมากกว่าทุกวัน คาดว่าจะมีนักเรียนเข้าชมกว่า 15,000 คน หากสถานศึกษาใดที่จะพานักเรียนมาชมนิทรรศการ ให้ทำหนังสือถึงสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักเรียนทุกคน เเละการเดินทางเข้าชมนิทรรศการ ให้ครูนำเด็กผ่านจุดคัดกรองมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น เนื่องจากมีเต๊นท์พักคอยที่รองรับนักเรียนนักศึกษาอยู่ใกล้จุดนั้นมากที่สุดเเละทำให้การดูเเลเป็นไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย
ส่วนการเข้าชมนิทรรศการวันนี้ กองอำนวยการร่วมรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณโดยรอบพระบรมมหาราชวัง (กอร.รส.) ได้จัดประชาชนเข้าชมนิทรรศการเป็นรอบ รอบละ 3,000 คน ขณะที่วันนี้มีเด็กเดินทางเข้าชมจำนวนมาก ทำให้เจ้าหน้าที่เน้นย้ำการเข้าชมนิทรรศการว่า ห้ามหยิบจับสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ ในนิทรรศการ ให้อยู่ภายนอกเเนวรั้วกั้น ห้ามถ่ายภาพเซฟฟี่ โดยหลังครบเวลา 1 ชั่วโมง ประชาชนต้องคืนบัตรเเละจะได้รับเเผ่นพับเเละโปสการ์ดที่ระลึก โดยโปสการ์ดจะมีการเเจกหมุนเวียน 9 วัน 9 เเบบ จำนวน 3 ล้านฉบับ ซึ่งประชาชนที่มาวันนี้จะได้รับเเบบที่ 3 ภาพประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ในสระอโนดาตจำลอง .-สำนักข่าวไทย