ทำเนียบฯ 9 พ.ย.- นายกรัฐมนตรีร่วมประชุมเอเปค ครั้งที่ 25 ที่เวียดนาม ย้ำความพร้อมไทยร่วมผลักดันเศรษฐกิจสีเขียวในภูมิภาค
พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการเข้าร่วมประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 25 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 10-12 พฤศจิกายน 2560 ณ นครดานังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มีหัวข้อหลักในการหารือ คือ การสร้างพลวัตใหม่และการส่งเสริมการพัฒนาไปสู่อนาคตร่วมกัน
พล.ท.วีรชน กล่าวว่า การประชุมมี 4 ประเด็นสำคัญ คือ การส่งเสริมการเติบโตที่ครอบคลุม สร้างสรรค์ และยั่งยืน การส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและนวัตกรรมแก่วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยในยุคดิจิทัล และการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“เป้าหมายในการเข้าร่วมประชุมของไทยครั้งนี้ คือ การได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการดำเนินการที่สำคัญของไทยในกรอบเอเปค โดยเฉพาะการค้าพหุภาคี FTAAP ความเชื่อมโยงเศรษฐกิจสีเขียว (Green growth / Green economy) และการพัฒนาทุนมนุษย์ รวมถึง นโยบายของรัฐบาลในการยกระดับและพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อแสดงบทบาทนำของไทยในการผลักดันเศรษฐกิจสีเขียวในภูมิภาค หรือ APEC Strategy for Green, Sustainable and Innovative MSMEs” พล.ท.วีรชน กล่าว
พล.ท.วีรชน กล่าวว่า นอกจากนี้ จะหารือเกี่ยวกับวาระของเอเปค หลัง ปี ค.ศ. 2020 ซึ่งจะมีส่วนในการกำหนดหัวข้อและประเด็นหลักสำหรับการประชุมเอเปค ในปี 2565 (ค.ศ. 2022) ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพ และเพื่อใช้ประโยชน์ในช่วงเวลาดังกล่าว ในการพบหารือทวิภาคีกับผู้นำเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคอื่น ๆ, เพื่อกระชับความสัมพันธ์และติดตามประเด็นความร่วมมือที่คั่งค้าง และ เพื่อแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และส่งเสริมความร่วมมือกับผู้แทนจากภาคธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
พล.ท.วีรชน กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้จะมีการลงนามในปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Declaration) ซึ่งมีภาคผนวก 4 ฉบับ ประกอบด้วย
1. วาระการดำเนินการเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ การเงิน และสังคม 2. กรอบความร่วมมือเอเปคว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคดิจิทัล 3. ยุทธศาสตร์เอเปคว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน และมีนวัตกรรม ซึ่งยกร่างโดยไทยและเปรู และ 4. ข้อริเริ่มเอเปคในการส่งเสริมสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรม
“เราจะใช้ประโยชน์ในการประชุมครั้งนี้ พบปะกับผู้นำประเทศ หรือผู้นำเขตเศรษฐกิจที่ก้าวขึ้นมาใหม่ เพื่อประเทศไทยจะได้ยืนยันในความพร้อม ที่จะให้ความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ในทุกด้าน รวมถึง ได้เปลี่ยนวิสัยทัศน์ซึ่งกันและกัน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคให้เติบโตอย่างยั่งยืน สร้างสรรค์” พล.ท.วีรชน กล่าว
ทั้งนี้ พล.ท.วีรชน กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีของไทยมีกำหนดการหารือทวิภาคีกับผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินี ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่ได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้จนประสบความสำเร็จ และนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย ซึ่งมีการพบกันหลายครั้งแล้ว .- สำนักข่าวไทย