กรุงเทพฯ 3 พ.ย. – เริ่มประเดิมเอสเอ็มอี 1,000 ราย ทดลองซื้อสิทธิล็อกอัตราแลกเปลี่ยนไว้ล่วงหน้าวงเงิน 30,000 บาทต่อราย
น.ส.วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายนนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ,สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ,สมาคมธนาคารไทย ,ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ Exim bank และธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง จะเริ่มให้ความรู้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้นำเข้า-ส่งออกที่มีรายได้ไม่เกิน 400 ล้านบาท ที่เป็นสมาชิกของสสว. โดยจะพิจารณา SMEs ที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี เป็นลำดับแรก ประมาณ 1,000 ราย จากจำนวนทั้งหมด 15,000-17,000 ราย ให้ได้เข้าอบรมสัมมนาให้ความรู้เรื่องการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน การบริหารความเสี่ยงด้านการค้าระหว่างประเทศ หลักบัญชีและภาษีเบื้องต้น เป็นต้น เพื่อให้ SMEsรู้จักการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง โดยจะช่วยให้ SMEs ปรับตัวและรับมือกับความผันผวนได้
ซึ่งSMEs ที่เข้าร่วมโครงการบริหารความเสี่ยงFX จะได้สิทธิ์ทดลองใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงประเภท FX Options คือ การซื้อสิทธิ์ในการล็อคเรท (อัตราแลกเปลี่ยน) ไว้ล่วงหน้า ซึ่งผู้ซื้อสิทธิ์สามารถเลือกที่จะใช้สิทธิ์ หรือไม่ใช้สิทธิ์ก็ได้ โดยจะเป็นเครื่องมือที่มีความยืดหยุ่นสูงและเหมาะกับผู้ประกอบการโดยSMEs ที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้สิทธิ์ทดลองซื้อ FX Options ภายใต้วงเงิน 30,000 บาทต่อราย เพื่อนำไปใช้ในการทำประกันอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะครอบคลุมวงเงินการนำเข้า-ส่งออก 100,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 3 ล้านบาท จึงคาดการณ์ปีนี้จะมีเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการและใช้สิทธิ์ 5,000 ล้านบาทจากเป้าหมายทั้งหมด 15,000 ล้านบาทโดยโครงการนี้จะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2561 จากนั้นจะมีการประเมินผลว่า SMEs ที่เข้าร่วมโครงการมีการปรับตัวและรู้จักบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้หรือไม่
น.ส.วชิรา กล่าวว่าความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจหลายด้าน ทั้งความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและความต้องการผู้บริโภค การแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2560 ที่ผ่านมา ค่าเงินบาท มีค่าความผันผวนประมาณร้อยละ 3.5 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำ หากเทียบกับบางสกุลในภูมิภาคเช่นเงินวอนเกาหลีใต้ แต่การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนไม่สามารถกำหนดทิศทางล่วงหน้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจึงต้องบริหารความเสี่ยง เพราะที่ผ่านมา ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอาจประสบภาวะขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อการเคลื่อนไหวเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามจากที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้นการทำ FX Options ระยะเวลา 1 เดือน ,3 เดือน , 6 เดือน จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องกังวลในเรื่องดังกล่าว และสามารถวางแผนธุรกิจได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ธ.กรุงเทพ ธ.กรุงไทย ธ.กรุงศรีอยุธยา ธ.กสิกรไทย ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย ธ.ทหารไทย ธ.ไทยพาณิชย์ และ ธ.ยูโอบี .-สำนักข่าวไทย