กรุงเทพฯ 1 พ.ย. – ธนาคารโลกปรับอันดับความยาก-ง่ายประกอบธุรกิจ ไทยดีขึ้นจากอันดับที่ 46 สู่อันดับ 26 ไทยตั้งเป้าเป็นที่ 2 ในอาเซียน
ธนาคารโลกเปิดเผยรายงาน Doing business 2018 ซึ่งเป็นการจัดลำดับความยาก-ง่ายในการทำธุรกิจ ระบุว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 26 จากทั้งหมด 190 ประเทศทั่วโลก ดีขึ้นถึง 20 อันดับจากปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่อับดับที่46 และเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ซึ่งอยู่ในอันดับ 2 และมาเลเซียที่อยู่ในอันดับที่ 24 โดยมีคะแนนรวม 77.44 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีคะแนนรวม 72.53 คะแนน ซึ่งประเทศไทยจัดเป็น 1 ใน 10 ประเทศ ที่มีการปรับปรุงเพื่อให้เกิดความสะดวกในการประกอบธุรกิจมากที่สุดในปีที่ผ่านมา หลังการปฏิรูปของไทยดีขึ้นถึง 8 ด้านจากทั้งหมด 10 ด้าน นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของประเทศไทยในรอบ 14 ปีทั้งนี้นับตั้งแต่มีการจัดทำรายงานของธนาคารโลก
ในรายงานฉบับนี้ธนาคารโลกระบุว่าประเทศไทยมีการพัฒนาที่โดดเด่นในเรื่องการลดระยะเวลาการจัดตั้งธุรกิจ, ยกเลิกการประทับตราบริษัทในใบหุ้น, ลดกระบวนการขอใช้ไฟฟ้า, ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์, ออกกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจใหม่, เพิ่มสิทธิผู้ลงทุนรายย่อยทำให้ฟ้องร้องได้ง่ายขึ้น, สร้างความชัดเจนของโครงสร้างการบริหารระหว่างความเป็นเจ้าของกับการควบคุม กำกับบริษัท, ตรวจสอบภาษีโดยใช้โปรแกรมบริหารความเสี่ยงมาคัดเลือกบริษัทที่มีความเสี่ยงสูง, ลดอัตราภาษีการโอนทรัพย์สิน การใช้ระบบยื่นฟ้องทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ จ่ายค่าธรรมเนียมศาลผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์, การแก้ไขปัญหาการล้มละลายได้ง่ายขึ้น
นายอูลริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประเทศไทย มาเลเซียและความร่วมมือในภูมิภาค กล่าวว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากจากการปฏิรูปการประกอบธุรกิจในปีที่ผ่านมา ปีนี้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 26 และสามารถไต่ขึ้นมาติดอยู่ในกลุ่ม 15 ประเทศที่ทำให้การประกอบธุรกิจง่ายขึ้น นับว่าประเทศไทยบรรลุเป้าหมายสำคัญ การปรับปรุงที่สำคัญ คือ ประเทศไทยยกเลิกข้อบังคับที่ต้องมีตราประทับของบริษัท และยกเลิกขั้นตอนการขออนุมัติจากกรมแรงงานในการส่งกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท ดังนั้น การเริ่มต้นธุรกิจจึงใช้เวลาเพียง 4.5 วัน เมื่อเทียบกับ 27.5 วัน เมื่อปีก่อน
ส่วนประเทศที่ได้อันดับ 1 คือ นิวซีแลนด์ อันดับ 2 สิงคโปร์ และอันดับ 3 คือ เดนมาร์ก
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายจะให้อันดับขึ้นมาเป็นที่ 2 ของอาเซียนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ( ปี 2560-2564) โดยปี 2561 รัฐบาลมีแผนที่จะปรับปรุงบริการอีกหลายเรื่อง เช่น การกำหนดค่าธรรมเนียม การจดทะเบียนธุรกิจเป็นอัตราคงที่ การลดค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับหลักประกันธุรกิจ การขยายฐานการชำระแบบอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานประกันสังคม และการพัฒนาระบบ E-filing เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการยื่นแบบและชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลของกรมสรรพากร
“การปรับปรุงที่มีนัยสำคัญต่อการปรับอันดับอย่างก้าวกระโดดในปีนี้คือ การปลดล็อคข้อจำกัดด้านกฎหมาย โดยมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 21/2560 เรื่องการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 ซึ่งความสะดวกในการประกอบธุรกิจในหลายเรื่อง” นายทศพร กล่าว
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผลการจัดอันดับดีขึ้น 6 ด้าน ได้แก่ ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ จากอันดับ 78 ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 36 ด้านการขอใช้ไฟฟ้า จากอันดับที่ 37 มาอยู่ที่อันดับ 13 ด้านการได้รับสินเชื่อ จากอันดับที่ 82 มาอยู่ที่ 42 ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย จากอันดับ 27 มาเป็นอันดับที่ 16 ด้านการชำระภาษี จากอันดับที่ 109 มาอยู่อันดับที่ 67 ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง จากอันดับที่ 51 มาอยู่อันดับที่ 34 ในขณะที่มีบางด้านแม้อันดับจะไม่ดีขึ้นแต่มีค่าคะแนนที่สูงขึ้น ซึ่งธนาคารโลกถือว่ามีการปฏิรูป ได้แก่ด้านการจดทะเบียนที่ดิน จากค่าคะแนนที่ 68.34 มาอยู่ที่ค่าคะแนน 68.75 และด้านการแก้ไขปัญหาล้มละลายซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในตัวชี้วัดย่อ.-สำนักข่าวไทย