นนทบุรี 31 ต.ค.-รัฐบาลเตรียมแผนเริ่มระบายน้ำออกจากทุ่งรับน้ำลุ่มเจ้าพระยา วันพรุ่งนี้ ขณะที่จังหวัดปลายน้ำอย่างนนทบุรี ชุมชนนอกคันกั้นน้ำยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงน้ำทะเลหนุนสูง
ระหว่างที่สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานคลี่คลายจนเกือบเข้าสู่ภาวะปกติ ยังมีมวลน้ำก้อนใหญ่จากภาคเหนือไหลบ่าลงมาตกค้างอยู่ในพื้นที่ภาคกลางอีกจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ยังคงต้องเร่งระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยให้หมด เพราะหากมีฝนตกลงมาเพิ่ม จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมหนักกว่าเดิม
แม้มวลน้ำเหนือจะลงมาถึง จ.นนทบุรี แล้วเป็นสัปดาห์ แต่ก็ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อพื้นที่ชั้นใน พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบยังคงเป็นชุมชนนอกพื้นที่คันกั้นน้ำสองฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา
อย่างที่ชุมชนมัสยิดท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด ซึ่งตั้งอยู่นอกพื้นที่คันกั้นน้ำได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนสูง พวกเขาบอกว่า ปีนี้หนักกว่าปีที่แล้ว เพราะน้ำเข้าท่วมบ้านสูงเกือบ 50 เซนติเมตร และระบายลงช้า ต้องยกทรัพย์สินไว้ที่สูง เดินทางลำบาก อีกทั้งยังถูกคลื่นซัดกระดานพื้นบ้านได้รับความเสียหาย
นอกจากนี้ ยังมีชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาอีกกว่า 30 แห่ง ที่ได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกัน เช่น ที่ อ.บางบัวทอง ปากเกร็ด บางใหญ่ และบางกรวย ส่วนในพื้นที่เทศบาลนครนนทบุรีและเทศบาลนครปากเกร็ดมีคันกั้นน้ำ ป้องกันน้ำท่วมได้ 95% ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีบอกว่า น้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนนอกคันกั้นน้ำเป็นวิถีที่เกิดขึ้นช่วงฤดูฝนทุกปี แต่เนื่องจากปีนี้ปริมาณน้ำเหนือมามาก จึงระบายได้ช้า พร้อมยืนยันแม้ปริมาณน้ำฝนปีนี้จะมากเท่าปี 54 แต่ก็ไม่น่ากังวล เพราะมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี
ขณะที่ทางการเตรียมแผนเริ่มการระบายน้ำออกจากทุ่งรับน้ำเจ้าพระยาตอนบนที่ทุ่งบางระกำ ซึ่งรับน้ำอยู่ 500 ล้านลูกบาศเมตร ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ พื้นที่ลุ่มพระยาตอนล่างฝั่งตะวันออกรับน้ำ 437 ล้านลูกบาศเมตร อยู่ในทุ่งเชียงราก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งฝั่งซ้าย คลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งบางกุ่ม และทุ่งบางกุ้ง จะเริ่มจะระบายน้ำให้วันที่ 21 พฤศจิกายน
ส่วนพื้นที่ลุ่มพระยาตอนล่างฝั่งตะวันตกรับน้ำอยู่ 1,077 ล้านลูกบาศเมตร ในทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด และโครงการโพธิ์พระยา จะเริ่มระบายให้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ โดยการระบายน้ำออกจากโครงการโพธิ์พระยา ทุ่งรับน้ำจุดสุดท้ายจะแล้วเสร็จในวันที่ 4 มกราคมปีหน้า.-สำนักข่าวไทย