กรุงเทพฯ 31 ต.ค.- พาณิชย์เปิดเจรจาซื้อขายข้าวนำผู้ซื้อต่างประเทศกว่า 200 ราย เข้าเจรจาการค้ากับผู้ประกอบการไทย 100 ราย คาดเกิดคำสั่งซื้อรวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการเจรจาธุรกิจสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว ระหว่างผู้นำเข้าข้าวต่างประเทศและผู้ประกอบการไทยว่า มีผู้ซื้อผู้นำเข้าเดินทางมาร่วมเจรจาธุรกิจกว่า 200 ราย จาก 25 ประเทศทั่วโลก อาทิ จีน ฮ่องกง แคนาดา สหรัฐอเมริกา ยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง อาเซียน และมีผู้ประกอบการไทยกว่า 100 รายเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เชื่อมั่นว่าจะสามารถเร่งรัดการส่งออกข้าวของไทย สู่ตลาดโลกให้บรรลุได้ตามเป้าหมาย
ทั้งนี้ โครงการจับคู่ธุรกิจครั้งนี้จัดขึ้นตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ที่มุ่งผลักดันการค้าระหว่างประเทศของไทยในการขยายลู่ทางการส่งออกสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวสู่ตลาดโลกให้ได้มากยิ่งขึ้น โดยได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกเชิญผู้ซื้อตัวจริงจากตลาดที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูงเดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ และคาดว่าจะก่อให้เกิดคำสั่งซื้อทันที 600 ล้านบาท และคำสั่งซื้อใน 1 ปีอีกประมาณ 3 หมื่นล้านบาท พร้อมกันนี้ได้มีการลงนามความตกลง MOU ระหว่างผู้นำเข้าข้าวต่างประเทศกับผู้ประกอบการไทย จำนวน 8 ฉบับ
อย่างไรก็ตาม ฉบับแรก การลงนามระหว่างบริษัท 759 Store ซึ่งเป็นผู้นำเข้าและซุปเปอร์มาเก็ตที่มี 224 สาขาทั่วเกาะฮ่องกง กับบริษัท Siam Diamond Export Rice จำกัด เพื่อสั่งซื้อข้าวหอมมะลิไทย จำนวน 10,000 ตัน ฉบับที่ 2 การลงนามระหว่างบริษัท 759 Store ของฮ่องกง กับบริษัท Global Rice Intertrade จำกัด เพื่อสั่งซื้อข้าวกล้อง ข้าวออร์แกนิก และข้าวไรซ์เบอร์รี่ รวมจำนวน 4,000 ตัน โดยบริษัท 759 Store ยังต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์ข้าวเพื่อเจาะตลาดภัตตาคารและร้านค้าทั่วไปด้วย
ฉบับที่ 3 เป็นการลงนามระหว่างบริษัท Goldmine Rice Marketing จากฟิลิปปินส์ กับบริษัท AKE Ricemill จำกัด สั่งซื้อข้าวขาวไทย 5% จำนวน 5,000 ตัน ฉบับที่ 4 ลงนามระหว่างบริษัท Goldmine Rice Marketing จากฟิลิปปินส์ กับบริษัท Asia Golden Rice จำกัด สั่งซื้อข้าวขาวไทย 5% จำนวน 5,000 ตัน ฉบับที่ 5 ลงนามระหว่างบริษัท All Asian Countertrade จากฟิลิปปินส์ กับบริษัท C.P. Intertrade จำกัด สั่งซื้อข้าวขาวไทย 5% จำนวน 25,000 ตัน ฉบับที่ 6 ลงนามระหว่างบริษัท Goldmine Rice Marketing จากฟิลิปปินส์ กับบริษัท C.P. Intertrade จำกัด สั่งซื้อข้าวขาวไทย 5% จำนวน 5,000 ตัน ฉบับที่ 7 ลงนามระหว่างบริษัท Goldmine Rice Marketing จากฟิลิปปินส์ กับบริษัท Capital Rice จำกัด สั่งซื้อข้าวขาวไทย 5% จำนวน 5,000 ตัน และฉบับที่ 8 ลงนามระหว่างบริษัท St. Claire Countertrade จากฟิลิปปินส์ กับบริษัท Oriental Jasmine จำกัด สั่งซื้อข้าวขาวไทย 5% จำนวน 25,000 ตัน
นอกจากนี้ กรมการค้าภายใน ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแนวทางเชื่อมโยงตลาดข้าวสี ได้แก่ ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมมะลิดำ (หอมนิล) และข้าวไรซ์เบอร์รี่ โดยในวันนี้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจอีก 1 ฉบับ ลงนามระหว่างสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. บุรีรัมย์ จำกัด สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. สุรินทร์ จำกัด บริษัท Universal Rice จำกัด บริษัท Asia Golden Rice จำกัด และบริษัท Thai Ha จำกัด (มหาชน) โดยมีนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และอุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณและขยายตลาดการรับซื้อข้าวสี ในระยะแรกได้เริ่มดำเนินการในพื้นที่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ในทุกภูมิภาคทั่วโลก เร่งสำรวจความต้องการในการบริโภคข้าวสีของผู้บริโภคในต่างประเทศ เพื่อวางแนวทางการดำเนินการจัดกิจกรรมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์และคุณประโยชน์ข้าวสีของไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นโดยเร็วต่อไป
ทั้งนี้ โครงการจับคู่ธุรกิจสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวเพื่อเร่งรัดการส่งออกครั้งนี้ เพื่อเร่งรัดการส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวของไทย นำไปสู่การส่งออกข้าวที่ปริมาณ 11 ล้านตันตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ อีกทั้งกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยตระหนักถึงการแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และประชาสัมพันธ์ข้าวสีของไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น อาทิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวหอมนิล และข้าวหอมมะลิแดง โดยสินค้าข้าวเป็นสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ มีมูลค่าส่งออกเป็นลำดับต้นๆ ของสินค้าเกษตรทั้งหมดที่ไทยส่งออก ในปี 2560 ตั้งแต่เดือนมกราคม – กันยายน ไทยส่งออกข้าวปริมาณ 8.23 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 3,578 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.79 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออกหลักได้แก่ เบนิน จีน สหรัฐอเมริกา แอฟริกาใต้ และแคเมอรูนเป็นต้น
ส่วนผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในหลายฟื้นที่นั้น ถือว่าไม่ได้กระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกมากนัก เนื่องจากเกษตรกรมีการเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกไปก่อนหน้านี้แล้ว และหลายฟื้นที่ในภาคอีสานจะได้รับผลดีส่งผลให้ผลผลิตข้าวมีคุณภาพมากขึ้น โดยหากดูราคาข้าวเปลือกหอมจะเฉลี่ยอยู่ที่ 12,000-13,000 บาทต่อตัน ขณะที่ข้าวเปลือกเจ้าเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 7,500 บาทขึ้นไป และขณะนี้รัฐบาลเตรียมมาตรการยกระดับราคาข้าวไทยโดยเฉพาะข้าวเปลือกนาปีไว้แล้ว
นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเป็นประธานการประชุมสรุปผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศนั้น จะกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกข้าวมากน้อยแค่ไหนจะได้เร่งหามาตรการเยียวยากันต่อไป ซึ่งหากดูราคาข้าวเปลือกเจ้าขณะนี้ถือว่าลดลง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 7,400-7,500 บาทต่อตัน ถือว่าต่ำพอสมควร โดยหากราคาขยับขึ้นไปอยู่ที่ 7,800-8,000 บาทต่อตันได้เกษตรกรจะมีความพอใจอย่างมากได้ จึงอยากให้รัฐบาลเร่งหาแนวทางยกระดับราคาข้าวไทยให้สูงขึ้นและทางเกษตรกรก็พร้อมที่จะปรับแนวทางการดูแลข้าวให้มีคุณภาพสูงขึ้นด้วยเช่นกัน.-สำนักข่าวไทย