ก.คลัง 30 ต.ค. – คลังแจงแนวคิดบริหารจัดการเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวเกิน 10 ปี เพื่อลดภาระสถาบันการเงินและดูแลเงินฝากประชาชนช่วย
นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณี สศค.เปิดรับฟังความเห็นร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของสถาบันการเงิน พ.ศ. …. ว่า ปัจจุบันประชาชนส่วนหนึ่งฝากเงินและพันธบัตรทิ้งไว้ที่สถาบันการเงิน โดยบัญชีเงินฝากและพันธบัตรดังกล่าวไม่มีการเคลื่อนไหวเป็นระยะเวลานาน (Dormant Account) ซึ่งประชาชนอาจทราบหรือไม่ทราบก็ตาม ซึ่งในส่วนนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการเงินฝากและพันธบัตรดังกล่าวออกเป็น 2 แนวทาง ประกอบด้วยกรณีเงินฝากและพันธบัตรมียอดคงเหลือน้อยกว่าขั้นต่ำที่ธนาคารกำหนด สามารถเรียกเก็บค่ารักษาบัญชีเงินฝากได้ หากมียอดคงเหลือในบัญชีเงินฝากน้อยกว่าขั้นต่ำที่ธนาคารกำหนด ส่วนใหญ่ธนาคารจะกำหนดยอดขั้นต่ำไว้ที่ 2,000 บาท และเก็บค่ารักษาบัญชีจนกระทั่งเงินในบัญชีหมด
ส่วนกรณีบัญชีเงินฝากและพันธบัตรไม่เคลื่อนไหวมียอดเงินฝากคงเหลือสูงกว่าขั้นต่ำที่ธนาคารกำหนด ธนาคารไม่สามารถเรียกเก็บบริการรักษาบัญชีเงินฝากสำหรับเงินในส่วนนี้ได้ ธนาคารสามารถแยกเงินในบัญชีนี้ออกเป็นบัญชีที่ไม่มีการเคลื่อนไหว โดยต้องแจ้งยอดเงินฝากคงเหลือเป็นจดหมายลงทะเบียนหรือจดหมายรับรองให้ลูกค้าทราบ และหากลูกค้าหรือทายาทยังไม่ติดต่อกลับมาธนาคารตามระยะเวลาที่กำหนด ธนาคารจะแยกเงินในบัญชีนี้ออกเป็นบัญชีที่ไม่มีการเคลื่อนไหว ปัจจุบันมีเงินในบัญชีที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของทุกสถาบันการเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท
ผอ.สศค.ย้ำว่าแนวคิดดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในระบบสถาบันการเงินที่รับฝากเงิน ซึ่งการมอบอำนาจให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแลเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวเกินกว่า 10 ปีขึ้นไปของประชาชนแทนสถาบันการเงิน และจัดทำระบบการค้นหาข้อมูลออนไลน์ เพื่อสืบค้นเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหว เพื่อให้ประชาชนเจ้าของบัญชีหรือทายาทตามกฎหมายสามารถสืบค้นและขอเงินต้นคืนได้ตลอดเวลาผ่านการดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนด
ทั้งนี้ หากไม่มีการจัดทำระบบการค้นหาข้อมูล ประชาชนอาจจะลืมหรือไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีเงินจำนวนดังกล่าว หรือหากประชาชนต้องการสืบค้นเงินดังกล่าวก็จำเป็นต้องติดต่อสอบถามสถาบันการเงินเป็นราย ๆ ไป ซึ่งมองว่าแนวคิดนี้จะช่วยลดภาระสถาบันการเงินในการดูแลบัญชีที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของประชาชนได้ และช่วยดูแลเงินของประชาชนด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องรอให้กฎหมายผ่านการพิจารณาก่อน จึงจะบังคับใช้ได้ คาดว่าจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเดือนธันวาคมนี้ และประกาศใช้ปีหน้า ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารลดต้นทุนการส่งเงินเข้ากองทุน ซึ่งต้องจ่ายในอัตราร้อยละ 0.47 ต่อปี
นายสุวิชญ กล่าวว่า ในต่างประเทศดำเนินการเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวลักษณะเดียวกัน เช่น ออสเตรเลีย อังกฤษ ไอร์แลนด์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น โดยส่วนใหญ่จะนำเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวมาบริหารจัดการ เพื่อนำเงินส่วนหนึ่งไปเพื่อสาธารณประโยชน์ และกันเงินสำรองอีกส่วนหนึ่งไว้เพื่อคืนเงินแก่ประชาชนที่มาขอเรียกเงินคืน.- สำนักข่าวไทย