กรุงเทพฯ 25 ต.ค. – เอสเอ็มอีแบงก์เตรียมโรดโชว์ใต้ จัดมหกรรมเติมเงินทุนเอสเอ็มอี หลังผลสำรวจพบเอสเอ็มอีภาคใต้ฟื้นตัวสูงสุดและมีแผนลงทุนปีหน้า
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) กล่าวว่า ภาพรวมเอสเอ็มอีขณะนี้เริ่มฟื้นตัว ภาคใต้ถือเป็นภูมิภาคที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวของเอสเอ็มอีสูงสุด แม้จะเกิดวิกฤติจากเหตุการณ์น้ำท่วมต้นปี มีลูกค้าของธนาคารที่ได้รับผลกระทบถึง 8,000 ราย มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่ขอรับบริการสินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจ ซึ่งปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาคใต้มาจากการท่องเที่ยวและการค้าชายแดน
ทั้งนี้ ธนาคารจึงเตรียมจัด “มหกรรมเติมเงินทุน SMEs มุ่งสู่มาตรฐาน เทคโนโลยี 4.0” ในพื้นที่ภาตใต้ มุ่งเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งเข้าถึงแหล่งทุน ยกระดับการท่องเที่ยวควบคู่กับการทำการตลาดแบบเล่าเรื่อง (Story telling) สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวที่ใช้กลยุทธ์ดังกล่าวจนประสบความสำเร็จ แบ่งการจัดงานออกเป็น 6 ครั้ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 – 15 พฤศจิกายน 2560 ครั้งที่ 1 จัดวันที่ 3 พ.ย.60 จ.กระบี่ ครั้งที่ 2 วันที่ 4 พ.ย.60 จ.ตรัง ครั้งที่ 3 วันที่ 10 พ.ย.60 จ.สตูล ครั้งที่ 4 วันที่ 11 พ.ย.60 หาดใหญ่ จ.สงขลา ครั้งที่ 5 วันที่ 13 พ.ย.60 จ.นครศรีธรรมราช และครั้งที่ 6 วันที่ 15 พ.ย.60 จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งทุกงานผู้ประกอบการสามารถสมัครเข้าจำหน่ายสินค้าในงานตลาดคลองผดุงกรุงเกษมฯ ภายในวันที่ 4-24 ธันวาคม 2560 ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายพร้อมกันนี้ด้วย
สำหรับภายในงานจะมีกิจกรรมเสริมศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ อาทิ แนะนำการใช้คูปองสำหรับตรวจสอบมาตรฐานสินค้าจาก Central Lab Thai (แล็บประชารัฐ) สร้างมาตรฐานสินค้าให้มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และบริการอบรมการใช้โปรแกรมทางบัญชี “ERP on Cloud” บนสมาร์ทโฟน ช่วยให้การบริหารบัญชีทำได้จากทุกมุมโลก รองรับมือกับมาตรฐานบัญชีใหม่โดยจะมีผลต่อการยื่นขอพิจารณาสินเชื่อจากสถาบันการเงินตามเกณฑ์รายได้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2561
นอกจากนี้ นำเสนอสินเชื่อ Transformation Loan วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนขยาย หรือปรับปรุงกิจการระยะเวลากู้ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-3 คงที่ร้อยละ 3 และปีที่ 4-7 คิดอัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท กรณีกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท สามารถใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ช่วยค้ำประกันได้ วงเงินกู้เกิน 5 ล้านบาท สามารถใช้หลักประกันตามเกณฑ์ปกติของธนาคารเฉพาะประเภทที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง, สินเชื่อสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการชุมชน วงเงิน 7,500 ล้านบาท (ฟรีค่าธรรมเนียมจาก บสย. 4 ปี) สำหรับบุคคลธรรมดา กู้ได้สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท นิติบุคคล กู้ได้สูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาท ระยะเวลาการกู้ยืมนาน 7 ปี ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR -1.5 ต่อปี ปีที่ 2 เป็นต้นไปหากใช้หลักประกันตามเกณฑ์ของธนาคาร คิดอัตราดอกเบี้ย MLR -1.0 ต่อปี
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงสถานการณ์เอสเอ็มอี ว่า ขณะนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีร้อยละ 68.8 ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดแล้ว และจะเริ่มลงทุนตั้งแต่ปี 2561 ดังนั้น มาตรการภาครัฐควรเข้ามาเสริม คือ ต้องช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากผลสำรวจพบว่าเอสเอ็มอี 1 รายจะใช้เงินลงทุนเฉลี่ยสูงถึง 1.36 ล้านบาท และมีผู้ประกอบการต้องการสินเชื่อสูงถึงร้อยละ 72 หากเอสเอ็มอีนำผลวิจัยไปต่อยอดเชิงปฏิบัติได้จะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบได้รวดเร็ว เนื่องจากมีเอสเอ็มอีบางรายเมื่อขอสินเชื่อแล้วกลับขาดส่งเงินต้นและดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.4 เดือน หากดูแลปัญหาจุดนี้จะช่วยให้โอกาสเกิดหนี้เสียจากธุรกิจเอสเอ็มอีจะน้อยลงไป อย่างไรก็ตาม คาดจีดีพีของเอสเอ็มอีปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 4.5 . – สำนักข่าวไทย