กทม. 20 ต.ค. – พระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยที่ยอดพระเมรุมาศปรากฏเครื่องสูงประกอบพระราชอิสริยยศ คือ นพปฎลมหาเศวตฉัตร หรือฉัตร 9 ชั้น สำหรับพระมหากษัตริย์ และที่บริเวณโดยรอบพระเมรุมาศมีฉัตรประดับพระเมรุมาศที่ยึดแบบอย่างตามโบราณราชประเพณี
นพปฎลมหาเศวตฉัตร หรือฉัตร 9 ชั้น ประดับยอดพระเมรุมาศ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ภายหลังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงยกนพปฎลมหาเศวตฉัตร ที่ถือเป็นองค์ประกอบสุดท้ายของพระเมรุมาศ แสดงถึงการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์
นพปฎลมหาเศวตฉัตร ฉัตรขาว 9 ชั้น นำต้นแบบมาจากพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 8 ครั้งนี้มีขนาดใหญ่พิเศษ กว้าง 1.20 เมตร และมีความสูง 5.10 เมตร ฉัตรแต่ละชั้นมีระบายขลิบทองแผ่ลวด 3 ชั้น ชั้นล่างสุดห้อยอุบะจำปาทอง 14 ช่อ ปลียอดฉัตรเป็นทรงองค์ระฆังต่อด้วยบัวกลุ่ม ทำด้วยทองเหลืองกลึงปิดทอง นพปฎลมหาเศวตฉัตร ถือเป็นฉัตรสำหรับพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับพระบรมราชาภิเษกตามโบราณขัตติยราชประเพณี โดยฉัตรเป็นเครื่องสูง เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสำหรับพระมหากษัตริย์ มีหลักฐานว่าไทยใช้ฉัตรเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสำหรับพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง
บริเวณโดยรอบพระเมรุมาศในชั้นชาลาต่างๆ ยังปรากฏฉัตรที่ใช้ประดับพระเมรุมาศที่อิงแบบตามแบบโบราณราชประเพณี ประกอบด้วย ฉัตรโลหะกลีบบัว โครงสร้างเป็นโลหะ มีระบายฉัตรเป็นโลหะบางฉลุลายเป็นกลีบบัว ออกแบบให้มี 11 ชั้น ติดตั้งบริเวณด้านนอกรั้วราชวัติ เพื่อเป็นการแบ่งขอบเขตพื้นที่มณฑลพิธี
ส่วนที่พระเมรุมาศ ฐานชั้นชาลาที่ 1 มีฉัตรฉลุลายโปร่ง 7 ชั้น มีระบายฉัตรเป็นโลหะฉลุลายทั้งผืนมาประดับล้อมรอบโครงระบายเป็นชั้นๆ
ชั้นชาลาที่ 2 มีฉัตรปักผ้าฉลุทำเลียนแบบลายผ้าปักหักทองขวางตามแบบโบราณ 5 ชั้น ที่ปรากฏมีทั้งสีเขียวคู่แดง แดงคู่เขียว และแดงคู่น้ำเงิน
ส่วนชั้นชาลาที่ 3 มีฉัตรปักผ้าฉลุทำเลียนแบบลายผ้าปักหักทองขวาง 7 ชั้น ใช้ผ้าทองสาบสีเป็นสีแสดขอบแดง โดยทั้งหมดนำมาจัดวางประดับรอบพระเมรุมาศ ช่วยให้องค์พระเมรุมาศโดยรวมมีความสง่างาม เข้ากับสีเหลืองทองอร่าม เสริมองค์พระเมรุมาศให้สมพระเกียรติสูงสุด. – สำนักข่าวไทย