กรุงเทพฯ 19 ต.ค. – กรมบัญชีกลางชี้แจงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืน
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เรื่องนี้ดำเนินการเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา และกำลังเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์หลากหลาย เริ่มจากข่าวความไม่รัดกุม มีช่องโหว่ โดยผู้มีรายได้น้อยเอาบัตรสวัสดิการไปแลกเป็นเงินกับร้านธงฟ้าประชารัฐในพื้นที่ซึ่งถือว่าผิดเงื่อนไข ความไม่เท่าเทียมของประโยชน์ที่ได้รับ และยังไม่ชัดเจนว่ารัฐจะจ่ายเงินให้นานแค่ไหน ทำให้ไม่ทราบว่าโครงการบัตรคนจนนี้จะใช้เงินงบประมาณรวมทั้งหมดเท่าไร จะเอาเงินจากที่ใดมาอุดหนุน จะขึ้นภาษีหรือไม่ อย่างไร จึงควรวางแผนป้องกันไม่ให้บัตรคนจน กลายเป็นแรงจูงใจให้ผู้ถือบัตรไม่อยากพ้นจากการเป็นคนจน และโครงการนี้จะมีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตอย่างไร นั้น
อธิบดีกรมบัญชีกลาง ขอชี้แจงว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้วยการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แก่ผู้มีสิทธิ รวมทั้งเพื่อให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลของประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดสวัสดิการสังคมและการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน รวมทั้งสามารถกำกับติดตามค่าใช้จ่ายสวัสดิการต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระบบ
สำหรับผู้ที่กระทำผิดไปจากเงื่อนไขการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่กำหนดไว้ หากเป็นร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ กระทรวงพาณิชย์จะถอนออกจากทะเบียนร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ และกรมบัญชีกลางจะดำเนินการเรียกคืนเครื่อง EDC จากเจ้าของร้านทันที ส่วนผู้มีสิทธิที่ร่วมกระทำผิดจะถูกตัดสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และต้องคืนเงินให้แก่ทางราชการ รวมทั้งอาจมีโทษตามที่กฎหมายกำหนดด้วย
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวต่อว่า งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กรมบัญชีกลางจะเบิกจ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ภายใต้กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจและฐานราก จำนวน 41,940 ล้านบาท และในปีต่อไปจะใช้จากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ภายใต้กองทุนประชารัฐฯ ซึ่งได้รับการจัดสรรไว้เพื่อการดำเนินการด้านสวัสดิการแห่งรัฐในแต่ละปี
การให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รัฐบาลต้องการให้ประชาชนผู้มีสิทธินำบัตรไปใช้ในการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันในเบื้องต้นก่อน โดยจะติดตามประเมินผลการให้สวัสดิการแต่ละประเภทมาปรับปรุงให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ ภาครัฐจะมีการส่งเสริมด้านอาชีพมีการให้ความรู้ในแต่ละด้านเพิ่มเติม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีสิทธิให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืน – สำนักข่าวไทย