เชียงใหม่ 9 ต.ค. – บรรพบุรุษชาวนอแล หอบลูกหลานหนีสงครามในประเทศเมียนมา มาเฝ้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงงานที่ดอยอ่างขาง จ.เชียงใหม่ เพื่อทูลขอที่อยู่และที่ทำกิน จากวันนั้นจวบจนถึงปัจจุบัน ชีวิตพวกเขาเปลี่ยนไปอย่างไร ติดตามจากรายงาน
สิ้นเสียงคำขอถวายฎีกาแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อปี 2527 ของคุณตานาโม วัย 89 ปี บรรพบุรุษชาวนอแล ชนเผ่าปะหล่อง ที่อพยพหนีสงครามจากเมียนมา มาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เป็นเวลาเกือบ 40 ปี ที่พวกเขาอยู่ร่วมขวานไทยด้วยความร่มเย็น
พระองค์คือราชาผู้ทรงธรรม ทรงพระเมตตา จัดสรรพื้นที่ของสถานีเกษตรหลวงอ่างขางให้ชาวบ้านได้อยู่อาศัย พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน ทั้งสอนอาชีพ สร้างรายได้ให้ชนเผ่ากลุ่มเล็กๆ มีชีวิตรอดจนถึงปัจจุบัน
เช่นเดียวกับลุงจะหริ่ง ผู้ใหญ่บ้านที่เคยรับเสด็จพระองค์ท่านและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชดำรัสกับตนว่า “พ่อหลวงพออยู่พอกินไหม” ประโยคนั้นยังก้องอยู่ในใจ ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณมิรู้ลืม ทุกวันนี้ชาวบ้านยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้พ้นความทุกข์ยากและมีสุขใจ
นอกจากที่อยู่อาศัย ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงแบ่งที่ดินทำกินให้ชาวบ้านได้ปลูกชาและพืชผลไม้เมืองหนาวแทนการปลูกฝิ่น ส่งขายโครงการหลวงดอยอ่างขาง ซึ่งถือเป็นโครงการหลวงแห่งแรกในไทย ด้วยพระอัจฉริยภาพ ทรงแก้ปัญหายาเสพติดและชุบชีวิตใหม่ให้ชาวเขา อย่าง “สร” ลูกหลานชนเผ่า หลังเรียนจบเดินหน้าสานต่อพระราชปณิธานของพ่อ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรสืบต่อไป
ผลผลิตทางการเกษตรที่เห็น เป็นฝีมือของชาวบ้านที่ช่วยกันพลิกฟื้นที่ดินของพ่อให้เจริญงอกงาม ปัจจุบันมีชาวเขาและเกษตรกรส่งผลิตผลให้โครงการหลวงดอยอ่างขาง กว่า 450 คน จาก 9 หมู่บ้าน สร้างรายได้ปีละ 12 ล้านบาท ต่อชีวิต สร้างโอกาสพ้นจากความยากจน ความไม่รู้ และความเจ็บป่วย ซึ่งถือเป็นหลักการทรงงานของพระองค์ นำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนทุกหัวระแหง. – สำนักข่าวไทย