นนทบุรี 6 ต.ค.-กระทรวงพาณิชย์ ให้ GIT กำหนดทิศทางปี 2561 เตรียมดันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลกภายในปี 2564 ปลื้มยอดส่งออกโตต่อเนื่อง
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ หรือ GITเปิดเผยถึงยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยในปี 2561 ว่า สถาบันฯ เร่งจัดทำแผนการดำเนินงานปีหน้า คือ การเพิ่มศักยภาพและสร้างตลาดให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับให้เป็นสากลและเพิ่มช่องทางการตลาด การสร้างภาพลักษณ์ (Country Image) ของไทยเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางอัญมณีและเครื่องประดับโลกในปี 2564 ที่สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคทั้งคุณภาพมาตรฐาน การพัฒนาการตลาดยุคใหม่ผ่านระบบออนไลน์ (Digital Marketing) การเพิ่มขีดความสามารถวิจัยและนวัตกรรมด้านอัญมณีและเครื่องประดับอย่างครบวงจร รวมถึงการเป็นหน่วยงานกลางอย่างมืออาชีพ ในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ พร้อมได้รับการรับรองจากสมาพันธ์อัญมณีและเครื่องประดับโลก และเป็นสมาชิกห้องปฏิบัติการอัญมณีแนวหน้า 1 ใน 5 ของโลก ที่เรียกว่า Laboratory Manual Harmonization Committee (LMHC) อีกทั้งยังเป็น Lab เดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล ISO 17025
ทั้งนี้ แผนดำเนินงานปีหน้า เน้นพัฒนาผู้ประกอบการใน 6 ภูมิภาค โดยให้สถาบันฯ เป็นตัวจักรสำคัญ คือ การพัฒนาศักยภาพ บุคลากรในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเริ่มจากตำบลด่านเกวียน จังหวัดนครราชสีมา อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ถนนวัวลาย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดภูเก็ต โดยให้จังหวัดเหล่านี้ออกแบบสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล เน้นความต้องการของผู้บริโภคแต่ละประเทศ และเสริมแบบครบวงจรทั้งด้านการผลิต การออกแบบทั้งภาคทฤษฎีและปฎิบัติ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับให้สูงขึ้น และดึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้าต่อยอดด้านการบริหารจัดการ E-Commerce พร้อมทั้งให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ส่งเสริมและสนับสนุนด้านเจาะตลาดหลักและตลาดใหม่ๆอย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้ Gems & Jewelry Training Institute เป็นสถาบันที่เน้นการเรียนการสอนทั้งด้านเทคนิคการผลิต การออกแบบ และการสร้างแบรนด์ และยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเจียระไนเพชร พลอย ที่มีชื่อเสียงระดับโลกมาสอนตั้งแต่ระดับช่างฝืมือ พนักงานขาย ไปจนถึงผู้ประกอบการ และแผนยกระดับคุณภาพและมาตรฐานโลหะมีค่า เช่น ทอง เงิน แพลทินั่ม ฯลฯ โดยตรวจสอบความบริสุทธิ์ของโลหะมีค่า ผ่านระบบ Hallmark มาใช้ในประเทศไทย เป็นการเพิ่มคุณภาพในตัวเครื่องประดับไทยถือเป็นตราสัญลักษณ์ประทับ ลงบนสินค้าแสดงค่าความบริสุทธิ์ของโลหะมีค่าสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อทั่วโลก และให้จัดทำ ฐานข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับทั่วประเทศทั้งจำนวนผู้ผลิต ผู้ค้าอยู่ที่ไหนบ้าง เพื่อเป็นฐานข้อมูลกลาง ของประเทศ และจะให้เชื่อมโยงกับ google เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่สนใจซื้อพลอยกดดูข้อมูลได้ว่ามีที่ไหนที่บ้างจะเริ่มต้นจากจันทบุรีก่อนและ Gems & Jewelry One Stop Service หรือ Help Desk จะให้คำแนะนำผู้ประกอบการที่สนใจอยู่ชั้น 1 ห้องสมุดอัญมณีและเครื่องประดับ อาคาร ไอที เอฟ สีลม โทร 02-634-4999 ต่อ 411 – 412 และบริการระบบ E-Services เชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านการตรวจสอบอัญมณีออนไลน์ได้ 24 ชั่วโมง
ส่วนการจัดงาน World Jewelry Confederation: CIBJO Congress 2017 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นการประชุมที่ยิ่งใหญ่ของวงการอัญมณีและเครื่องประดับโลกระหว่างวันที่ 2 – 7 พฤศจิกายน 2560 ที่โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่า 350 คน และงาน World Ruby Forum ที่จะมีขึ้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2560 ภายใต้งาน ประชุม CIBJO Congress 2017 ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้อัพเดทของ “ทับทิม” ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยนักวิชาการ อัญมณี นักธุรกิจชั้นแนวหน้าของทั้งในและนักธุรกิจของโลก จึงนับเป็นความภาคภูมิใจที่ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพ ซึ่งสถาบัน GIT ได้ทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับของชาวโลกและก้าวเป็นศูนย์กลางได้ตามเป้าหมายปี 2564 หากดูตัวเลขการส่งออกของอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ช่วง 8 เดือนตั้งแต่มกราคม-สิงหาคม 2560 มียอดส่งออกสูงถึง 8,424 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5.5 มั่นใจทั้งนี้จะส่งออกได้มากกว่า 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 500,000 ล้านบาท .-สำนักข่าวไทย