กรุงเทพฯ 5 ต.ค. – ก.อุตฯ แจงไม่ละทิ้งปัญหาโรงงานเอทานอล จ.สุพรรณบุรี ยืนยันไม่มีการรั่วไหลระลอก 2
นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวย้ำว่า กระทรวงฯ ยังคงติดตามและกำกับดูแลการแก้ไขปัญหาของบริษัท ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ตำบลหนองมะค่าโมง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี อย่างใกล้ชิด โดยนายทองชัย ชวลิตพิเชฐ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา
ล่าสุดมีการรายงานข่าวตามสื่อต่าง ๆ ว่าบ่อพักน้ำเสียของโรงงานรั่วเป็นครั้งที่ 2 ทำให้มีน้ำเสียไหลเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชน จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรี โดยนายอนุสรณ์ ภู่พงศ์สกุล อุตสาหกรรมจังหวัด ไม่พบการไหลล้นเป็นครั้งที่ 2 ตามที่ได้มีการเสนอข่าว ข้อเท็จจริงเป็นน้ำเสียที่ตกค้างอยู่ตามบ่อน้ำต่าง ๆ เมื่อฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำไหลหลากพัดพาน้ำเสียดังกล่าวเข้าท่วมบ้านประชาชนบางหลังคาเรือน
อย่างไรก็ตาม พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ให้คำแนะนำในการเฝ้าระวังและควรเสริมคันดินบ่อเพิ่ม เพื่อป้องกันปัญหาน้ำเสียล้นบ่อซ้ำขึ้นมาใหม่ ซึ่งผู้ประกอบการอยู่ระหว่างการดำเนินการสร้างคันดินเป็นแนวป้องกันน้ำเสียเพิ่มอีก 1 คัน ด้านหลังบริเวณที่เคยเกิดเหตุ และได้ทำการขุดบ่อเพื่อกักเก็บน้ำเสียเพิ่ม 2 บ่อ เพื่อลดระดับน้ำเสียที่กักอยู่ภายในบ่อของแปลงเพาะปลูกให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย โดยบ่อดังกล่าวรองรับน้ำเสียได้ประมาณ 10,000 ลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ หากสถานการณ์เข้าภาวะปกติ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรีจะพิจารณาสั่งให้มีการบริหารจัดการการใช้น้ำเสีย เพื่อเป็นสารปรับปรุงดินบริเวณแปลงเพาะปลูกไร่ของผู้ประกอบการรายนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก
“เบื้องต้นได้รับรายงานว่าผู้ประกอบการมีการประชุมกับจังหวัดสุพรรณบุรี ผู้นำชุมชน และประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2560 สรุปได้ว่าผู้ประกอบการยินดีเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบเบื้องต้น ซึ่งประชาชนที่เข้าร่วมประชุมมีความพอใจ สำหรับพืชผลทางการเกษตร เกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี จะดำเนินการสำรวจความเสียหายของผู้ได้รับผลกระทบและผู้ประกอบการดำเนินการชดใช้ค่าเสียหายต่อไป” นางสาวนิสากร กล่าว
นางสาวนิสากร กล่าวอีกว่า สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรีได้เก็บตัวอย่างน้ำเสียบริเวณที่มีการระบายออกนอกโรงงาน เพื่อส่งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมวิเคราะห์แล้ว หากผลการวิเคราะห์ไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรี จะพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป.-สำนักข่าวไทย