ก.คลัง 5 ต.ค. – บสย.ชงคลังขยายค้ำประกันสินเชื่อนอนแบงก์ คาดเริ่มต้นปี 61 พร้อมเผยผลดำเนินงานค้ำประกัน 9 เดือน กว่า 54,000 ล้านบาท
นายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ปี 2561 บสย.ตั้งเป้าขยายการค้ำประกันสินเชื่อไปยังธุรกิจนอนแบงก์ประเภทสินเชื่อลีสซิ่ง สินเชื่อแฟ็กเตอริง และสินเชื่อเพื่อการค้า ซึ่งขณะนี้ได้มีการเสนอเกณฑ์การค้ำประกันให้กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว คาดว่ากระทรวงการคลังจะอนุมัติหลักการภายในเดือนตุลาคมนี้และจะสามารถเริ่มดำเนินโครงการได้ในเดือนมกราคมปี 2561 ซึ่งอาจจะมีการหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมดำเนินการ ตั้งเป้าค้ำประกันสินเชื่อไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ปีหน้าเตรียมขยายการค้ำประกันไปยังสหกรณ์การเกษตรและผู้ประกอบการรถตู้ที่ต้องการเปลี่ยนเป็นรถไมโครบัสด้วย
ส่วนผลดำเนินงานการค้ำประกันสินเชื่อ 9 เดือนของปี 2560 (1 ม.ค. – 30 ก.ย.) มียอดอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ 54,027 ล้านบาท ลูกค้าใหม่ 67,597 ราย ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ อาทิ โครงการค้ำประกันสินเชื่อรายย่อย (Micro Entrepreneurs) ระยะที่ 2 ประสบความสำเร็จ 60,656 ราย วงเงินอนุมัติค้ำประกัน 5,547 ล้านบาท โครงการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีทวีทุน (PGS6) ปรับปรุงใหม่ช่วยเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อ 4,663 ราย วงเงินอนุมัติค้ำประกัน 27,700 ล้านบาท โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs Transformation Loan ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) 1,621 ราย วงเงินอนุมัติค้ำประกัน 9,786 ล้านบาท
สำหรับโครงการ PGS6 ปรับปรุงใหม่ตามกรอบวงเงิน 81,000 ล้านบาท ตามที่ ครม.เห็นชอบเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 มียอดคำขอค้ำประกันสินเชื่อมากกว่า 10,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15 ของยอดวงเงินทั้งหมด สามารถช่วยเอสเอ็มอี 1,200 ราย ขณะนี้มี 15 ธนาคารพันธมิตรร่วมโครงการ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, ธนาคารยูโอบี, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารเกียรตินาคิน, ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และเอสเอ็มอีแบงก์
นายนิธิศ มั่นใจว่าจะสามารถผลักดันยอดค้ำประกันสินเชื่อปีนี้ไม่ต่ำกว่า 86,000 ล้านบาท ภายใต้กลยุทธ์เชิงรุก ปูพรมกิจกรรม รองรับการเติบโตของภาคธุรกิจ และตามนโยบายของรัฐบาล อาทิ ส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยว โดยร่วมกับธนาคารพันธมิตร โครงการผลักดันสินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ ภายใต้แคมเปญร่วมกับธนาคารต่าง ๆ เพื่อขยายฐานผู้ประกอบการกลุ่มค้าชายแดน CLMV ท่องเที่ยว และเอสเอ็มอีเกษตร เป็นต้น. – สำนักข่าวไทย