กรุงเทพ ฯ 2 ต.ค. – สหภาพฯ รฟท.
ปูดปัญหาใหญ่ในองค์กร ขาดแคลนบุคลากรหนัก อาจส่งผลกระทบต่อการให้บริการ
มีปัญหาความปลอดภัย ขณะที่การลงทุนพัฒนาระบบรางหลากหลายรูปแบบนับล้านล้านบาทอาจไม่มีคนปฏิบัติงาน
นายสาวิทย์ แก้วหวาน
ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาใหญ่
ที่เกิดขึ้นในองค์กรการรถไฟแห่งประเทศไทยขนาดนี้ และทางสหภาพฯเห็นว่ารัฐบาล
และกระทรวงคมนาคมต้องรีบยื่นมือเข้ามาช่วยแก้ปัญหาโดยด่วน
เพราะนอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการปฏิบัติงานของพนักงานรถไฟตกต่ำแล้ว
ยังอาจเป็นต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุในด้านการเดินรถ
เกิดอันตรายต่อผู้โดยสารได้
โดยขณะนี้แม้ว่าสหภาพฯ
จะพิจารณาเห็นว่า รัฐบาลปัจจุบัน
มีความตั้งใจที่จะเข้ามาปฏิรูประบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างจริงจังมากกว่ายุคอื่นๆ มีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางที่มีความเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศระยะ 8 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2565 รัฐบาลได้มีการเน้นการลงทุนให้เกิดโครงการรถไฟทางคู่ใหม่ระยะแรกถึง 10 เส้นทาง ระยะสองอีก 12 เส้นทาง และขณะนี้ก็เริ่มก่อสร้างไปแล้ว
2 เส้นทาง กำลังประมูลจัดซื้อจัดจ้างอีก 5 เส้นทาง การเร่งรัดรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง
รถไฟฟ้าเชื่อมสนามบินหรือแอร์พอร์ตลิงค์ ตลอดจนรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน
เชื่อมประเทศที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้
แต่โครงการเหล่านี้จะใช้บุคลากรจากไหนหากไม่เร่งสร้างในวันนี้
“ปัญหาใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้น
คือ แผนในการพัฒนาบุคลากร หรือคนเพื่อมาทำงานรองรับระบบราง ที่ลงทุนมูลค่านับล้านล้านบาทกลับไม่มีความชัดเจนท่ามกลางปัญหาปัจจุบันที่
รฟท. มีปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ส่งผลกระทบเกิดปัญหาตามมา
ทุกวันนี้นายสถานีหลายคนต้องปฏิบัติงาน ควงกะตลอดวันตลอดคืน
ทำหน้าที่ทุกอย่างในสถานี ตั้งแต่ขายตั๋ว ยันล้างห้องน้ำ แค่นี้ก็หมดเวลาไปวันๆ
แล้ว ไม่ต้องคิดกันมากเลยว่า หากรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง สร้างเสร็จจะ
จะเอาคนที่ไหนมาทำงาน” นายสาวิทย์กล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลอัตรากำลังของการรถไฟแห่งประเทศไทย ปัจจุบันตามแผนงาน การรถไฟฯ
มีความต้องการบุคลากรเพื่อปฏิบัติงานด้านต่างๆ ที่ 15,000 คน
แต่ในความเป็นจริงกลับเหลือพนักงานปฏิบัติหน้าที่ได้เพียง 11,000 คน เท่ากับว่าขาดแคลนอยู่เกือบ 4,000 คน
และในแผนอีก 4 ปีข้างหน้า หากการลงทุนสร้างรถไฟทางคู่
รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูงสำเร็จ จะต้องการบุคลากรเพิ่มเป็น 30,000 คน
จำเป็นต้องสรรหาอัตรากำลังเพิ่มอีก 20,000 คน
ซึ่งโครงการสำคัญเหล่านี้เหลือเวลาในการก่อสร้างสามถึงสี่ปีก็จะต้องเริ่มเปิดให้บริการแล้ว
โดยต้นตอสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหา ณ
วันนี้ เกิดจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 ที่กำหนดให้การรถไฟฯ สามารถรับพนักงานใหม่เพิ่มได้ 5% ของพนักงานที่เกษียณอายุราชการออกไปเพื่อเป็นการลดปัญหาการขาดทุน
แต่ถึงวันนี้ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีการนี้ไม่ได้ทำสถานะของการรถไฟฯ
และการให้บริการดีขึ้น ทำให้ทุกวันนี้ การรถไฟฯ ต้องทนรับสภาพ
เพราะเมื่อพนักงานประจำรับใหม่ไม่ได้ ลูกจ้างก็จ้างเพิ่มไม่ได้ รวมถึงบุคลากรที่การรถไฟฯ
ผลิตขึ้นมาเอง อย่างนักเรียนวิศวกรรมรถไฟ มติ ครม.ดังกล่าวด้วย
ส่งผลนักศึกษาที่เรียนจบจากโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ ในปี 2560 และพร้อมเข้ามาปฏิบัติงานเพิ่มได้
จำนวน 176 คน
แต่กลับไม่สามารถดึงบุคลากรคนรุ่นใหม่เหล่านี้เข้ามาปฏิบัติงานได้
สุดท้ายต้องแยกย้ายกันกลับบ้านตามภูมิลำเนาของตัวเอง
จึงถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เรื่องนี้จึงต้องจับตาต่อไปว่ารัฐบาลจะดำเนินการคลี่คลายปัญหาดังกล่าวอย่างไร.–สำนักข่าวไทย