กรุงเทพฯ 20 ก.ย.- กนอ.เตรียมที่ดิน 50,000 ไร่ รองรับโครงการลงทุนอีอีซี เลขาธิการอีอีซีเผยความคืบหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุนครั้งใหญ่
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า เพื่อรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) กนอ.เตรียมพื้นที่ 50,000 ไร่ เพื่อรองรับการลงทุนโครงการลงทุน S-Curve ต่าง ๆ ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2560-2565) และช่วง 3 ปีแรกนี้เตรียมพื้นที่ 34,000 ไร่ แบ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วและอยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งจะใช้พื้นที่อย่างละ 12,000 ไร่ รวม 24,000 ไร่ และพื้นที่รองรับการพัฒนาสวนอุตสาหกรรมและเขตพัฒนาอุตสาหกรรมอีกประมาณ 16,000 ไร่ นอกจากนี้ ยังเตรียมที่จะหาพื้นที่สำรองอีก 10,000 ไร่ หากลงทุนเองร้อยละ 50 จะใช้เงินลงทุน 10,000 ล้านบาท ซึ่งรวมนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทพาร์ค ซึ่งได้รับอนุมัติให้เป็นเขตส่งเสริมพิเศษแล้ว อีก 1,400 ไร่ ลงทุน 4,000 ล้านบาท
ส่วนความต้องการพื้นที่ของนักลงทุนนั้น กนอ.จะประเมินความต้องการตลาดต่อไป อย่างไรก็ตาม การลงทุนใน S-Curve จะมีการใช้พื้นที่สำหรับโครงการลงทุนน้อยกว่าโครงการลงทุนทั่วไป เพราะมีระดับเทคโนโลยีสูงกว่าและผลจากการที่มีคณะนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาดูลู่ทางการลงทุนในประเทศไทยและมีกระแสตอบรับดีมีความเชื่อมั่นต่อการที่จะลงทุนเพิ่มขึ้นก็ช่วยให้แนวโน้มความต้องการพื้นที่เพิ่มขึ้น
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(ครศ.)กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของการพัฒนาอีอีซี ( มี.ค.-ส.ค.60) มีความก้าวหน้า 8 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น สนามบินอู่ตะเภาเป็นเมืองแห่งการบินภาคตะวันออก ระยะแรกคาดว่าทีโออาร์จะออกมาช่วงปลายปีนี้และการพัฒนาจะเสร็จสมบูรณ์ภายใน 5 ปี โครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนา 3 ท่าเรือน้ำลึก ประกอบด้วย ท่ามาบตาพุดและท่าเรือแหลมฉบับระยะ 3 และท่าเรือสัตหีบจะเริ่มก่อสร้างปลายปีนี้ โดยมีโครงการรถไฟรางคู่เข้าเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกทั้ง 3 แห่ง คาดว่าทีโออาร์ของโครงการ PPP เหล่านี้จะออกได้ช่วงปีหน้าและจะก่อสร้างเสร็จภายใน 7 ปี
2.ระเบียบการร่วมลงทุนรัฐและเอกชน PPP ที่ขณะนี้ผ่านความเห็นของจากคณะกรรมการอีอีซีรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาสัปดาห์หน้า 3.การชักชวนการลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมียื่นคำขอแล้ว 14,500 ล้านบาท 4.โครงการพัฒนาการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับอีอีซี แผนกำลังเสร็จและกำหนดโครงการลงทุนแล้ว 5.เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล EECD และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EECI ประกาศเป็นเขตส่งเสริมอยู่ระหว่างการชักชวนผู้เข้ามาลงทุน 6.การพัฒนาคนความรู้และเทคโนโลยี เช่น กระทรวงศึกษาธิการขอ ม.44 เพื่ออนุมัติหลักสูตรการศึกษาตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุนทั้งระยะสั้นและยาวโดยเร็ว
7.สาธารณูปโภค การพัฒนาเมืองและสิ่งแวดล้อมอยู่ระหว่างการวางแผนร่วมกับคณะอนุกรรมการผังเมือง ทั้งระบบน้ำประปาและพลังงาน โดยขณะนี้มีแผนและงบประมาณที่สมบูรณ์รองรับ และ 8.พ.ร.บ.อีอีซี ผ่านการพิจารณาของ ครม.และจะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัตแห่งชาติ (สนช.) สัปดาห์หน้า ซึ่งคณะกรรมการอีอีซีรวมแผนการพัฒนา 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เข้ากับแผนพัฒนาอีอีซีและให้เพิ่มแผนพัฒนาด้านเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรเข้าไปด้วย.-สำนักข่าวไทย