กรุงเทพฯ 20 ก.ย. – กระทรวงพลังงานประเมินความต้องการไฟฟ้าในแผนพัฒนากำลังงานไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี) 20 ปีฉบับใหม่ คาดจะไม่หดตัว แม้เทคโนโลยีใหม่จะเริ่มมา แต่จากสังคมเมืองในต่างจังหวัดโตขึ้น รวมถึงแผนอีอีซี อีวี และระบบราง จะส่งผลให้ความต้องการไฟฟ้ายังคงเพิ่มขึ้น ส่วนเปิดประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณส่อล่าช้า 1-2 เดือน
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงฯ อยู่ระหว่างเสนอกรอบการศึกษาพีดีพี 20 ปีฉบับใหม่ต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช. ) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันที่ 18 ตุลาคมนี้ โดยในแผนจะพิจารณาปัจจัยทุกด้านมาประกอบ ทั้งเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีใหม่ (description technology) นโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทน ขณะเดียวกันได้ขอความร่วมมือจากคณะกรรมการปฏิรูปพลังงานที่มีนายพรชัย รุจิประภา เป็นประธาน ช่วยส่งความเห็นเพื่อนำมาประกอบการจัดทำพีดีพีใหม่ด้วย
รมว.พลังงาน ยังกล่าวถึงการเปิดประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียม “เอราวัณ-บงกช” ที่จะหมดอายุปี 2565-2566 ขณะนี้รอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาตรวจร่างกฎหมายลูก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เช่น หลักเกณฑ์ระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) ว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อใด โดยเดิมนั้นเชื่อว่าจะพิจารณาเสร็จ 1 เดือน หลังจากส่งไปให้พิจารณาเมื่อต้นเดือนกันยายน หากทำตามเป้าหมายเดิมจะเปิดทีโออาร์ประมูลแบบพีเอสซีเดือนตุลาคม แต่หากพิจารณาล่าช้าก็อาจจะเลื่อนไป 1-2 เดือน
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า แผนพีดีพีใหม่คาดจะปรับปรุงเสร็จสิ้นภายในต้นปี 2561 โดยเบื้องต้นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แจ้งประเมินภาวะเศรษฐกิจว่าระยะยาวจะไม่ขยายตัวแบบก้าวกระโดดอาจจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3-4 ขณะที่ได้นำนโยบายรัฐบาลทั้งเรื่องการพัฒนาระบบราง, การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) , การพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐภาคตะวันออก (อีอีซี ) การขยายเติบโตของสังคมเมืองในภูมิภาคต่าง ๆ มาร่วมพิจารณา เพราะความต้องการใช้ไฟฟ้าของหัวเมืองต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้น รวมถึงเทคโนโยโลยีใหม่ ทั้งสมาร์ทกริด ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage ) ระบบ Micro Grid การศึกษาพัฒนาไฟฟ้ารายภูมิภาค ซึ่งจะดูว่าความต้องการ กำลังผลิต และสายส่งของแต่ละภูมิภาคเป็นอย่างไร โดยจะส่งเสริมการผลิตตรงไหนให้ใช้ตรงนั้น ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการสูญเสียในระบบส่ง (LOSS)
“การปรับแผนพีดีพีใหม่ทาง สนพ.จะร่วมกับ กฟผ.และดึงทบวงพลังงานระหว่างประเทศหรือไออีเอ มาร่วมประเมินศักยภาพพลังงาน เพราะเป็นหน่วยงานที่มีฐานข้อมูลที่ดีจะมาช่วยวิเคราะห์ โดยเผนนี้จะดูถึงเทคโนโลยีใหม่และกระจายการผลิตพลังงานทดแทน กระจายเชื้อเพลิงหลัก เพื่อลดความเสี่ยง” นายทวารัฐ กล่าว.-สำนักข่าวไทย