สิงห์บุรี 20 ก.ย.-“ปลาช่อนแม่ลา” เป็นชื่อที่คุ้นหูคนภาคกลางว่า เป็นปลาช่อนที่รสชาติอร่อย ปลาช่อนแม่ลาของแท้อยู่ที่ จ.สิงห์บุรี ปัจจุบันมีอยู่ในธรรมชาติน้อยลง กรมประมงจึงทำโครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลาช่อนแม่ลา
นักวิชาการประมงศูนย์วิจัยประมงน้ำจืดสิงห์บุรีนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาช่อนแม่ลา มาฉีดฮอร์โมน ก่อนจะจับคู่ให้ผสมพันธุ์กัน เมื่อไข่เพาะฟัก ได้ลูกครอกก็จะอนุบาลจนมีขนาด 3-5 เซนติเมตร จึงนำไปปล่อยในลำน้ำแม่ลา
ปลาช่อนแม่ลาเป็นสายพันธุ์เดียวกับที่พบในพื้นที่อื่นๆ แต่สาเหตุที่กล่าวขานกันว่า รสชาติอร่อยล้ำ เนื่องจากสภาพแวดล้อมทั้งน้ำ ตะกอนดิน และอากาศบริเวณลำน้ำแม่ลา ซึ่งอยู่ระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำน้อย
ในปี 2522 กรมประมงวิจัยพบว่า ปลาช่อนที่อาศัยในลำน้ำแม่ลามีไขมันในกล้ามเนื้อมากกว่าปลาช่อนจากแหล่งน้ำอื่น เนื้อสัมผัสจึงนุ่มลิ้นและอร่อยกว่า โครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลาช่อนแม่ลาเกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน ปล่อยลูกปลาคืนสู่ธรรมชาติ 100,000-300,000 ตัว อัตราการรอดร้อยละ 50
กรมประมงยังส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงในบ่อดิน โดยจำหน่ายพันธุ์ปลาให้ในราคาถูก ซึ่งหากจะคงลักษณะเฉพาะของปลาช่อนแม่ลาไว้ให้ได้ก็ต้องเลี้ยงในบ่อดิน ใช้น้ำจากลำน้ำแม่ลา ลักษณะเด่นอีกประการคือ ครีบหูจะเป็นสีชมพูหรือส้มคล้ายสีตะกอนดินใต้น้ำ ซึ่งถ้านำไปเลี้ยงที่อื่น ทั้งสีและรสชาติจะแตกต่างไป
กรมประมงกำลังขอขึ้นทะเบียน “ปลาช่อนแม่ลา” เป็น ผลผลิต GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ขณะเดียวกันจังหวัดสิงห์บุรีได้ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ลำน้ำแม่ลาด้วย เพราะหากสภาพแวดล้อมของลำน้ำเปลี่ยนไป เอกลักษณ์ทางกายภาพและรสชาติของปลาช่อนแม่ลาจะไม่เหมือนเดิม.-สำนักข่าวไทย