กรุงเทพฯ 19 ก.ย.-ธ.กรุงเทพ-มธ. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสนับสนุนการเติบโตและพัฒนาธุรกิจ startup
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความร่วมมือระหว่างกันครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถของธุรกิจ start up ในประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในทุกสาขาวิชาที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจในขณะที่ธนาคารกรุงเทพมีประสบการณ์ด้านทางธุรกิจและร่วมสนับสนุนลูกค้า เอสเอ็มอี จนประสบความสำเร็จโครงการนี้เป็นการประสานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างภาครัฐภาคเอกชนและภาคการศึกษาโดยธุรกิจ startup ที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะช่วยศึกษาวิเคราะห์รวมถึงวางกรอบการพัฒนาในเบื้องต้นและกำหนดเป้าหมายการพัฒนาร่วมกับผู้ประกอบการ
จากนั้นธนาคารจะเริ่มเข้ามามีส่วนในการช่วยวางกลยุทธ์จัดทำแผนดำเนินงาน ตลอดจนให้คำปรึกษาด้านวางแผนการบริหารการเงินและเชื่อมโยงกับตลาด ตลอดจนช่วยจัดหาแหล่งเงินทุนให้เหมาะสม โดยมีเป้าหมายสุดท้ายที่จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของเอกชนรายกลางและรายเล็กในด้านต่างๆ ทั้งทางด้านเทคโนโลยี กฎหมาย การตลาด การเงิน ระบบบัญชี และการจัดการอย่างเป็นระบบ
นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพยังมีศักยภาพด้านเครือข่ายธุรกิจต่างๆทั้งธุรกิจเอสเอ็มอี และธุรกิจขนาดใหญ่ทำให้ธุรกิจ startup สามารถเข้าถึงเครือข่ายธุรกิจอื่นๆ ที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่ตลาดเป้าหมายได้ง่ายขึ้นและกว้างขวางขึ้นในระยะเวลาอันสั้น ขณะเดียวกันกรณีที่ธุรกิจ startup มีข้อจำกัดด้านเงินทุนธนาคารก็สามารถให้คำปรึกษาด้านการวางแผนการบริหารเงินอย่างมีประสิทธิภาพตลอดจนช่วยจัดหาแหล่งเงินทุนประเภทต่างๆที่เหมาะสมได้เช่น venture capital เงินกู้รูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ ธนาคารกรุงเทพ ยังมีบริษัท บัวหลวง เวนเจอร์ส ทุนจดทะเบียน 2,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่จะสามารถเข้าไปร่วมลงทุนหรือให้คำแนะนำ startup ได้ทางหนึ่งด้วย อยู่ระหว่างเจรจา 10 บริษัทคาดว่าจะลงนามร่วมทุนในปีนี้ประมาณ 3-4 บริษัท ทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เป็นต้น
ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัย ร่วมพัฒนาสังคมไทยผ่านการให้บริการวิชาการได้เฉพาะองค์ความรู้ด้านการบริหารธุรกิจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์การแพทย์ตั้งเป้าสู่การเป็นมหานครแห่งทรัพย์หรือ Startup District และการก้าวสู่มหาวิทยาลัยผู้ประกอบการหรือ Entrepreneurial University อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อพลักดันการต่อยอดธุรกิจนวัตกรรมจากการวิจัยโดยยังมีงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพในการต่อยอดธุรกิจและรอการสนับสนุนอยู่อีกมากกว่า 100 ราย
โดยพบว่าในแต่ละปีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพในการต่อยอดธุรกิจคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของงานวิจัยที่เกิดขึ้นทั้งหมดโดยภายในสิ้นปี 2560 นี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ตั้งเป้าสร้างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพนวัตกรรมเทคโนโลยีกว่า 50 รายโดยมุ่งเน้นที่ 6 กลุ่มธุรกิจตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติได้แก่ กลุ่มเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ กลุ่มสุขภาพและเทคโนโลยีทางการแพทย์ กลุ่มหุ่นยนต์ กลุ่มบริการ กลุ่มดิจิทัล และกลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อมและกลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม-สำนักข่าวไทย