รร.เซ็นทารา แกรนด์ฯ 15 ก.ย.-ที่ประชุมวิชาการ 3 สถาบันแพทย์ จุฬา-รามา-ศิริราช ห่วงการเลี้ยงลูกผ่านหน้าจอ ทั้งมือถือแทปเลต หวั่นพัฒนา การสมอง ภาษาล่าช้า พฤติกรรมคล้ายเด็กออทิสติก แนะ เด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 2 ปี พ่อแม่ไม่ควรเลี้ยงลูกร่วมสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพราะจะทำให้เด็กขาดปฏิสัมพันธ์ แนะอ่านหนังสือ ช่วยเด็กฉลาด ภาษาดี
ในการเสวนา ‘อย่าปล่อยให้จอเลี้ยงลูก’ รศ.นพ.วีระศักดิ์ ชลไชย กุมารแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในช่วงอายุของเด็กกับการใช้สื่อ เป็นสิ่งละเอียดอ่อน เพราะมีผลต่อพัฒนาการทางสมองชัดเจน โดยเฉพาะเด็กวัย 0-2ปี ไม่ควรใช้สื่ออย่างเด็ดขาด โดยพบว่า ปัจจุบันเด็กวัย 6-8 เดือน มีการใช้สื่อแล้ว จากพ่อแม่ เฉลี่ยวันละ 4 ชม.ซึ่งพ่อแม่มักไม่รู้ ขณะที่เด็กเริ่มวัย 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี มีการใช้สื่อมากถึง 5 ชม. ทั้งนี้จะมีผลต่อการพัฒนาโครงข่ายของสมอง ทั้งการพัฒนาทางภาษาที่ล่าช้า กล้ามเนื้อมัดเล็กล่าช้า ก่อให้เกิดพฤติกรรม ก้าวร้าวรุนแรง และมีพฤติกรรมคล้ายเด็กออทิสติก ต้องอาศัยการปรับพฤติกรรมจึงจะแก้ไขได้ และการใช้สื่อในเด็กโตยังส่งผลให้เกิดการนอนหลับยาก มีผลต่อพัฒนา การ การเติบโต การเรียนรู้ กลายเป็นการเลี้ยงยาก ดื้อ เพราะขาดปฏิสัมพันธ์พ่อแม่ จึงเรียนรู้ช้า พูดช้า
ด้านผศ.พญ.สุรีย์ลักษณ์ สุจริตพงษ์ กุมารแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า กิจกรรม 3 อย่าง ที่มีผลต่อความฉลาดในเด็กจากการ ศึกษาในหลายประเทศ ทั้ง สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ พบว่า1.การอ่านหนังสือมีผลกับพัฒนาการทางสมองให้ฉลาด และมีผลต่อพัฒนาการทางภาษา โดยเด็กที่อ่านหนังสืออย่างน้อยวันละ 3 ชม.จะฉลาดกว่าเด็กอ่านหนังสือวันละ1 ชม.ถึง ร้อยละ 2.47 เท่า
2. การอออกกำลังกาย จะส่งต่อพัฒนาการทางร่างกาย และภาษา
3.ขณะที่เด็กดูโทรทัศน์ จะส่งผลต่อพัฒนาการทางภาษาอย่างเดียว และจากข้อมูลในปัจจุบันพบว่าการใช้อีบุ๊คก็ไม่มีผลทางพัฒนาการสมอง เท่ากับการอ่านหนังสือเพราะเด็กจะสนใจแต่สิ่งเร้า หรือสื่อข้างหน้า มากกว่าปฏิสัมพันธ์กับคน ทำให้ขาดทักษะ ด้านสมองการอ่าน ภาษา .-สำนักข่าวไทย