รัฐสภา 14 ก.ย.-สนช.ลงมติเอกฉันท์ ผ่านร่างกฎหมายลูกว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เห็นชอบเซ็ตซีโร่ กสม.
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (14 ก.ย.) มีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 เป็นประธาน ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย พิจารณาเสร็จแล้ว โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า หลังจากที่กรรมาธิการได้พิจารณาตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีข้อโต้แย้งใน 6 ประเด็นแล้วนั้น ที่ประชุมกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ได้มีมติเห็นด้วยให้แก้ไขเพียงประเด็นเดียวเกี่ยวกับคณะกรรมการสรรหา คือ มาตรา 11 วรรค 5 เดิมกำหนดให้การทำหน้าที่ของกรรมการสรรหาเมื่อครบกำหนดการสรรหาแล้ว หากยังได้กรรมการสรรหาไม่ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ให้กรรมการสรรหาเท่าที่สรรหาได้ทำหน้าที่ได้ทันที ซึ่งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายได้กำหนดให้คณะกรรมการสรรหาต้องมีผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนมีส่วนร่วมในการสรรหาด้วย
นายสุรชัย กล่าวว่า ส่วนการทำหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และเมื่อครบเวลาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้ว ยังไม่มีหรือยังไม่ได้คณะกรรมการสรรหาครบตามจำนวน ให้คณะกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่เริ่มกระบวนการสรรหาเพิ่มภายใน 30 วัน และหากพ้นจาก 30 วันไปแล้ว ยังไม่ได้คณะกรรมการสรรหาในส่วนที่ขาด ให้คณะกรรมการสรรหาที่มีอยู่ทำหน้าที่ไปพลางได้ ส่วนประเด็นข้อโต้แย้งเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการ กสม. กรรมาธิการร่วมฯ พิจารณาแล้ว ให้ยืนตามร่างเดิมที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เขียนไว้ คือ ทันทีที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ให้ประธานและกรรมการ กสม.พ้นจากตำแหน่งทันที หรือเซ็ตซีโร่ กสม.
ด้านนายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรรมาธิการเสียงข้างน้อย กล่าวย้ำถึงข้อโต้แย้ง ไม่เห็นด้วยกับการเซ็ตซีโร่ กสม.ว่า การกำหนดเนื้อหาตามมาตรา 60 ขัดต่อหลักนิติธรรม เพราะการจะให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ ควรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เพื่อให้กฎหมายมีความแน่นอนและไม่เกิดปัญหาในการตีความ ซึ่งการพิจารณาในปัญหานี้ต้องมีการชั่งน้ำหนักระหว่างเหตุผลความจำเป็นและประโยชน์สาธารณะ ซึ่งกรณีของ กสม.เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วไม่ได้เป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะแต่อย่างใด เพราะการจะให้กฎหมายมีผลย้อนหลัง จะต้องคุ้มครองความสุจริตของ กสม.ที่เข้ามาในตำแหน่งตอนแรกโดยรู้อยู่แล้วว่าตนเองจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี ดังนั้นจึงเห็นว่าควรแก้ไขมาตรา 60 ด้วยการกำหนดให้คนที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ก็ให้ กสม.พ้นจากตำแหน่งเฉพาะรายไป
ด้านนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขานุการ กรธ. ชี้แจงว่า กรธ.เห็นว่าการที่ สนช.พิจารณามาตรา 60 สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะมาตรา 273 ของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติว่าให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่ดำรงตำแหน่งก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญทำหน้าที่ต่อไปแต่ให้เป็นไปตามที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญกำหนด สาเหตุที่รัฐธรรมนูญต้องบัญญัติไว้เช่นนี้ เนื่องจากในอดีตเรามีปัญหามาก จึงต้องมีการปรับโครงสร้างองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมของประเทศไทยตามคำปรารภในรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน กรธ.ได้ศึกษารายงานของคณะอนุกรรมการประเมินสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งได้เตือนไทยว่าสถานะของ กสม.จะถูกลดลงหากยังไม่สามารถทำตามหลักการปารีสภายใน 1 ปี ซึ่งสาเหตุมาจากกระบวนการสรรหา กสม.ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ไม่มีความหลากหลาย พร้อมกันนี้ยังเรียกร้องให้ กสม.ปฏิบัติตามข้อกังวลดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ที่สุดแล้ว ที่ประชุมลงมติเห็นชอบบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามมาตรา 267 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 177 เสียง และเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนจากนี้จะส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป.-สำนักข่าวไทย