กรุงเทพฯ 13 ก.ย.-สรส.ร้องรัฐบาล ถอนร่าง พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจ ออกจาก สนช.ก่อนหารือร่างกฎหมายใหม่ให้เหมาะสม หลังติดใจหลายมาตราไม่ใช่การปฏิรูปแต่เป็นการแปรรูป
นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำทีมเครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ แถลงข่าวเพื่อแสดงจุดยืนและเรียกร้องขอให้รัฐบาลถอดร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสากิจ พ.ศ….ที่ขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช.ในวาระแรก เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ออกจาก สนช.ก่อน หลังพบว่าเนื้อหาของกฎหมายหลายประเด็นไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของรัฐบาลในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาล ที่ต้องการ ให้ปลอดจากการเมืองเข้ามาแทรกแซง บริหารงานโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล ให้เกิดประสิทธิภาพบริการที่ดีแก่ประชาชน เช่น โครงสร้างผู้บริหารบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ที่ทำหน้าที่ถือหุ้นแทนกระทรวงการคลัง ประกอบไปด้วย คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ( คนร.) คณะกรรมการบรรษัทวิสาหกิจ และคณะกรรมการต่างๆ ล้วนมาจากนักการเมือง ข้าราชการประจำ และนายทุนนักธุรกิจ โดยไม่มีส่วนร่วมจากภาคประชาสัมคม ขณะที่รัฐอ้างว่าไม่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลังยังคงถือหุ้นเต็มจำนวน แต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับให้อำนาจ คนร.และบรรษัท ในการโอนขายหุ้นได้โดยเสรี ไม่มีกำหนดสัดส่วน ซึ่งหากบรรษัทขายมากกว่าร้อยละ 50 ทำให้กระทรวงการคลังไม่ใช่เจ้าของอีกต่อไป และรัฐวิสาหกิจ รวมถึงพนักงาน ก็จะพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ และขาดต่อสิทธิประโยชน์ต่างๆ อีกทั้ง การบริหารของบรรษัทวิสาหกิจ ยังไม่ต้องผ่านการตรวจสอบงบการเงิน บัญชีจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.แต่จะใช้ผู้ตรวจสอบงบการเงิน งบดุลทางบัญชีที่มีทรัพสินย์มหาศาล ที่มาจากการแต่งตั้งของกระทรวงการคลัง มาตรวจสอบแทน เป็นต้น
นายสาวิทย์ กล่าวต่อว่า จากเนื้อหาข้างต้นจะเห็นว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้เน้นที่การแปรรูปไม่ใช่ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจตามที่ได้กล่าวอ้างตั้งแต่ต้น ซึ่งหากกฎหมายผ่านความเห็นชอบและประกาศใช้ หุ้นทั้งหมดที่กระทรวงการคลังถือจะถูกโอนให้บรรษัทดูแลทันที ซึ่ง สรส.มองว่าจะทำให้รัฐวิสาหกิจ พนักงานได้รับความเสียหาย ส่วนประชาชน จะไม่ได้รับประโยชน์ แต่กลับเป็นนายทุนที่ได้รัจากกฎหมายฉบับนี้ ดังนั้น จึงออกมาเรียกร้องให้รัฐถอน พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกจาก สนช.ก่อนแล้วกลับมาทบทวนกันใหม่โดยมีภาคประชาสัมคมเข้าร่วมด้วย เนื่องจากที่ผ่านมากฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้รับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคม ตามที่ รัฐธรรมนูญ มาตรา 77 กำหนดแต่อย่างใด โดยยืนยัน สรส.เห็นด้วยกับการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ต้องเหมาะสมและเป็นธรรม.-สำนักข่าวไทย