เชียงใหม่ 8 ก.ย. – กฟผ.ร่วมกับหน่วยงานภาคีลงนามความร่วมมือโครงการ Dark Sky เพื่อศึกษาวิจัยและส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพบนดอยอินทนนท์ เพื่อลดมลภาวะทางแสง ลดค่าไฟฟ้าที่เกิดจากการใช้หลอดไฟเพื่อการเติบโตของดอกเบญจมาศ รักษาสมดุลระบบนิเวศ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนของธรรมชาติและสิ่งมีชีวิต
เมื่อเร็ว ๆ นี้ (6 ก.ย.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มูลนิธิโครงการหลวงและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ลงนามร่วมกันเพื่อศึกษาโครงการ Dark Sky บนดอยอินทนนท์ จ. เชียงใหม่
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการกิจการสังคม กฟผ. เปิดเผยว่า โครงการ Dark Sky เป็นความร่วมมือของ 5 หน่วยงาน เพื่อศึกษาและวิจัยการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่ดอยอินทนนท์ทุกมิติ ทั้งด้านการใช้พลังงานไฟฟ้า ด้านดาราศาสตร์ ด้านเกษตรกรรม ระบบนิเวศ อีกทั้งยังส่งเสริมให้เขตพื้นที่ดอยอินทนนท์เป็นเขตสงวนเพื่อท้องฟ้ายามราตรี เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนของธรรมชาติและสิ่งมีชีวิต อีกทั้งเป็นการสร้างองค์ความรู้ในการใช้ไฟฟ้าแสงสว่างในภาคการเกษตรบนดอยอินทนนท์ ที่นิยมปลูกดอกเบญจมาศ ดอกไม้เศรษฐกิจที่สร้างรายได้หลักให้กับชุมชน และมีการใช้แสงสว่างสำหรับการเจริญเติบโตของดอกเบญจมาศในช่วงกลางคืน
นายบุญญนิตย์ กล่าวว่า กฟผ.ทำการทดลองเชิงเปรียบเทียบประสิทธิภาพการใช้แสงสว่างระหว่างแปลงปลูกดอกเบญจมาศที่ใช้หลอดตะเกียบ (ที่ชุมชนใช้อยู่เดิม) กับการใช้หลอด LED พบว่าการเจริญเติบโตของดอกเบญจมาศไม่แตกต่างกัน แต่หลอดตะเกียบทำให้เกิดแสงฟุ้งกระเจิงขึ้นสู่ท้องฟ้ามากเกินความจำเป็น ทำให้เกิดมลภาวะทางแสง (Light Pollution) ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ สำหรับหลอด LED มีคุณสมบัติส่องแสงสว่างลงด้านล่างไม่ทำให้เกิดแสงฟุ้งกระเจิงบดบังความงามของดวงดาวบนท้องฟ้า ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศให้กลับคืนตามธรรมชาติ อีกทั้งสามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ถึงร้อยละ 50 ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้า ซึ่งตอบโจทย์ภารกิจ กฟผ.ในการผลิตไฟฟ้าควบคู่กับการดูแลรักษาสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการดำเนินงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าในทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ การดำเนินงานจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management ) ของ กฟผ.มุ่งให้การใช้ไฟฟ้าทุกภาคส่วนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่กับการปลูกจิตสำนึกด้านการประหยัดพลังงานแก่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งจากการดำเนินงานดังกล่าวจนถึงปัจจุบันส่งผลให้ประเทศประหยัดพลังงานลงได้ประมาณ 4,380 เมกะวัตต์ ลดพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 26,000 ล้านหน่วย และช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน ด้วยการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศลงได้ 14.8 ล้านตัน
นายสมหวัง เรืองนิวัติศัย ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงการสนับสนุนว่า กรมอุทยานฯ มีภารกิจในการอนุรักษ์ ส่งเสริมและฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ด้วยการควบคุมป้องกันพื้นที่ป่าอนุรักษ์เดิม และพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้กลับมาสมบูรณ์ รวมทั้งการปลูกจิตสำนึกให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและสังคมชุมชน ดำเนินการลดผลกระทบในการใช้แสงสว่างส่วนเกินจากชุมชนในเขตพื้นที่ดอยอินทนนท์ ให้เป็นพื้นที่เขตสงวนเพื่อท้องฟ้ายามราตรี รวมทั้งส่งเสริมให้ชุมชนตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รักษาพื้นที่ป่าไม้ในเขตดอยอินทนนท์ให้มีความเหมาะสม และมีความสมบูรณ์เพื่อเป็นมรดกทางธรรมชาติของประเทศ
นายศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวถึงการดำเนินงานว่า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ ได้นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสู่ชุมชนและจังหวัดโดยใช้ดาราศาสตร์เป็นสื่อ รวมทั้งศึกษา วิจัย ทดลอง ให้ความรู้และความเข้าใจทางดาราศาสตร์ กระจายไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ ได้มีความร่วมมือกับทั้ง 4 หน่วยงาน ในการจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการทำบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ ถือเป็นส่วนสำคัญในการตอบสนองภารกิจการส่งเสริมด้านดาราศาสตร์ เนื่องจากดอยอินทนนท์เป็นเขตอุทยานแห่งชาติที่มีนักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เข้ามาสัมผัสความเป็นธรรมชาติของดอยอินทนนท์จำนวนมาก การลงนามครั้งนี้จึงก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างคุ้มค่า เป็นพลังขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ การพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มีความเข้มแข็ง.- สำนักข่าวไทย