สุวรรณภูมิ 7 ก.ย.-ทุกภาคส่วนร่วมมือสกัดกั้นลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญาไซเตสต่อเนื่อง หลังจากปีที่ผ่านมาไทยได้รับการยอมรับในเวทีโลกและเลื่อนสถานะขึ้นมาในอันดับดีขึ้น
นายวิจารณ์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดกิจกรรม”รณรงค์การป้องกันลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา” เพื่อเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่า ในพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เนื่องจากเป็นช่องทางที่ผู้ลักลอบค้าสัตว์ป่าใช้ในการนำสินค้าผ่านไปยังประเทศต่างๆในเอเชีย โดยส่วนใหญ่จุดหมายปลายทางไปยังประเทศจีน ซึ่งถือว่าเป็นประเทศผู้บริโภครายใหญ่ , การตรวจยึดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นการลักลอบค้าสัตว์ป่ารายใหญ่และมีมูลค่าสูง โดยสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายที่ตรวจยึดได้ ได้แก่เกล็ดลิ่น นอแรดงาช้างและผลิตภัณฑ์ เต่าหายาก ลิงและสัตว์เลี้ยงที่เป็นสัตว์แปลกหายาก
สำหรับสถิติการตรวจยึดของด่านตรวจสัตว์ป่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ปี 2560 รวม 15 คดี เป็นเกล็ดลิ่นน้ำหนัก 1,066 กิโลกรัม , งาช้างแอฟริกา 422 ท่อน น้ำหนัก 330 กิโลกรัม , นอแรด 21 นอ , ลิงมาโมเสท 11 ตัว , งาช้างน้ำหนัก 73.9 กิโลกรัม และสัตว์แปลกประเภทเต่ากิ้งก่า งูรวม 117 ตัว
ขณะที่ภาพรวมสถิติทางคดีของการจับผู้ลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญาของด่านตรวจทั้ง 40 แห่งประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึง23 กรกฎาคม 2560 ตรวจจับได้ของกลางแยกเป็น ตัวลิ่น127 ,เกล็ดลิ่น 1,093กิโลกรัม/นอแรด 21 นอ , งาช้างแอฟริกา 423 ท่อน และซากฟันช้าง 1 กิโลกรัม
นายวิจารย์ กล่าวว่า จากมาตรการป้องกันและปราบปรามที่เข้มงวดของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรฯ ที่ได้กล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมจากเวทีการประชุมสุดยอดการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ณ นครโจฮันเนสเบิร์ก สาธารณรัฐแอฟริกาใต้เมื่อ 23 กันยายน 2559 โดยได้แสดงให้ที่ประชุมเห็นถึงความจริงใจของประเทศไทยว่าให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาอาชญากรรมด้านสัตว์ป่าและพืชป่าโดยถือเป็นเรื่องเร่งด่วนในระดับนโยบายของชาติและเป็นที่น่ายินดีว่าที่ผ่านมาไทยได้ถูกถอดออกจากรายชื่อประเทศ ซึ่งต้องทบทวนมาตรการการค้าที่สำคัญของม้าน้ำ และการเสนอของประเทศไทยที่ขอแก้คำอธิบายแนบท้ายของไม้พะยูงขึ้นบัญชีสองก็ผ่านการพิจารณา นอกจากนั้นประเทศไทยยังได้รับการเลื่อนสถานะที่ดีขึ้นจากกลุ่มสถานะน่ากังวลอย่างยิ่ง (primary concern) มาอยู่ในกลุ่มสถานะหน้ากังวลลำดับรอง(secondary concern) .-สำนักข่าวไทย