นนทบุรี 5 ก.ย. – พาณิชย์คลอดยุทธศาสตร์ธุรกิจบริการไทยฉบับแรก หวังผลักดันไทยเป็นฮับธุรกิจบริการของอาเซียน เตรียมเปิดบริการ Startup complex เร็ว ๆ นี้
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบใหม่ไปสู่ภาคบริการมากขึ้นตามแนวทางประเทศไทย 4.0 จึงกำหนดยุทธศาสตร์ธุรกิจบริการไทย โดยมีเป้าหมายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจบริการอาเซียน เพิ่มรายได้ของภาคบริการ และส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจบริการระดับท้องถิ่นมากขึ้น เนื่องจากธุรกิจบริการถือเป็นรายได้สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างมาก โดยกำหนดยุทธศาสตร์สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ การสร้างนักรบธุรกิจบริการสู่ภูมิภาค (Service 4.0 Warrior) การต่อยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Innovation-based Services) การเชื่อมต่อธุรกิจบริการไทยสู่ตลาดโลก มุ่งเน้นธุรกิจบริการผู้สูงอายุ หรือ “Silver Market” เนื่องจากเป็นตลาดการค้าบริการที่ที่สามารถต่อยอดไปสู่บริการอื่นได้หลายประเภท และการส่งเสริม Startup เชื่อมกับ New S-Curve เพื่อที่จะต่อยอดสู่ตลาดโลก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้ง Startup complex เพื่อสนับสนุนระบบนิเวศน์ (ecosystem) ของ Startup อย่างครบวงจร และการยกเครื่องด้านกฎหมายและข้อมูลธุรกิจบริการ
สำหรับกลุ่มธุรกิจบริการเป้าหมายที่จะส่งเสริมแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ ธุรกิจบริการ First S – Curve ได้แก่ Wellness & Medical Services , Hospitality Services, Creative Services, Trade Support Services, Construction & Related Services, and Education Services มุ่งส่งเสริมและพัฒนา Traditional Service สู่ การเป็น High Value Service โดยอาศัยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่าง ๆ อาทิ E-commerce Logistics และ Fintech ส่วนอีกกลุ่ม คือ ธุรกิจบริการ New S- Curve ได้แก่ ธุรกิจบริการด้านสิ่งแวดล้อม,ธุรกิจบริการด้านดิจิทัล , ธุรกิจบริการต่อยอด New S-curve ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการส่งเสริมการให้บริการอย่างครบวงจร เช่นการซ่อมบำรุงหุ่นยนต์ อากาศยาน ยานยนต์ในน้ำและยานยนต์ไร้คนขับ และการผลิต Digital Content และจะมีการพัฒนาธุรกิจบริการ 6 Cluster ตามความเหมาะสมกับทรัพยากรท้องถิ่น โดยแบ่งเป็น การส่งเสริม เช่น 1. Wellness & Medical Services: ภาคเหนือ และภาคกลาง 2.Hospitality Services: ภาคเหนือ และภาคกลาง 3. Creative Services: ภาคตะวันออกและภาคใต้ 4.Trade Support Services: ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ 5.Construction & Related Services: ภาคกลางตอนบนและภาคอีสาน และ 6. Education Services: ภาคใต้
ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่าปี 2558 จีดีพีของประเทศไทยมีมูลค่า 13,533,596 ล้านบาท จำแนกเป็นจีดีพีภาคเกษตร 1,237,309 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.1 และจีดีพีภาคนอกการเกษตรคิดเป็น 12,296,287 ล้านบาท หรือร้อยละ 90.9 โดยมีจีดีพีภาคบริการสูงสุดคิดเป็น 7,841,743 ล้านบาท หรือร้อยละ 64 ส่วนการค้าระหว่างประเทศ ข้อมูลขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ระบุว่าการส่งออกบริการของไทยปี 2558 อยู่ที่อันดับที่ 21 ของโลก และเลื่อนขึ้นเป็นอันดับที่ 11 ในปี 2559 โดยมูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 1.8 ของการส่งออกบริการทั้งโลก รองจากสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 6 และสูงกว่ามาเลเซียซึ่งอยู่ในลำดับที่ 18
สำหรับข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคลภาคธุรกิจบริการของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จำแนกตาม Thailand Standard Industrial Classification (TSIC) พบว่าธุรกิจบริการที่มีผู้จดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อประกอบธุรกิจมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.การขายส่ง-ปลีก และการซ่อมยานยนต์และจักยานยนต์ 2. การก่อสร้าง 3.กิจกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ 4.กิจกรรมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ 5.กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน (นำเที่ยว) 6.การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 7. ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 8. ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 9. ศิลปะ บันเทิง และนันทนาการ และ 10.กิจกรรมทางการเงินการประกันภัย
อย่างไรก็ตาม หากดูรายได้รวมปี 2558 จากนิติบุคคลที่นำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ธุรกิจที่มีรายได้สูงสุดตามลำดับ ได้แก่ 1.การขายส่ง-ปลีก และการซ่อมยานยนต์และจักยานยนต์ 2. กิจกรรมทางการเงินการประกันภัย 3.การก่อสร้าง 4.การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า และ 5.กิจกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ แสดงให้เห็นว่าบางธุรกิจแม้จะมีจำนวนผู้ประกอบการในตลาดน้อย แต่สามารถสร้างรายได้จำนวนมหาศาล เช่น ธุรกิจการเงินการประกันภัย เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย