กรุงเทพฯ 5 ก.ย. – กกร.ระบุมีความเป็นไปมากส่งออกทั้งปีจะขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 3.5-4.5 ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจช่วงที่เหลือยังมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง แต่ขอประเมินอีกครั้งในการประชุม ต.ค.นี้
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) แถลงผลการประชุมว่า การส่งออก 7 เดือนแรกปีนี้เติบโตถึงร้อยละ 8.2 และมีความเป็นไปได้มากที่การส่งออกตลอดทั้งปีอาจสูงกว่ากรอบการขยายตัวที่ กกร.คาดการณ์ไว้ แต่การประชุมครั้งนี้ยังคงกรอบคาดการณ์เติบโตของการส่งออกปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 3.5 – 4.5 ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาส 2 ขยายตัวดีกว่าคาดเป็นผลมาจากการเติบโตของการส่งออกและการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว รวมถึงการผลิตภาคเกษตรที่ขยายตัวสูง เพราะฐานปี 2559 เกิดภาวะภัยแล้ง ที่ประชุม กกร.จึงประเมินว่าเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีแนวโน้มขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นต้องติดตาม อาทิ รายได้เกษตรกรถูกกระทบจากอุทกภัยและราคาสินค้าเกษตร รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาท ดังนั้น กกร.จึงยังคงกรอบประมาณการการขยายตัวของจีดีพีปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 3.5-4.0 รวมถึงคงเงินเฟ้อร้อยละ 0.5-1.5 โดย กกร.จะขอประเมินภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะสหรัฐจากผลกระทบของพายุเฮอริเคนฮาร์วีย์ รวมทั้งประเด็นการเมืองในสหรัฐและความขัดแย้งกับเกาหลีเหนือ ที่สำคัญความเคลื่อนไหวของเงินบาทก่อนที่จะทบทวนประมาณการส่งออกในการประชุมรอบถัดไปในเดือนตุลาคมนี้
นายปรีดี กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาทเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยส่งออกสินค้าไปต่างประเทศมากขึ้นและได้กำไร จึงนำเงินต่างประเทศเข้ามาในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า แต่สถานการณ์ยังน้อยกว่าปีที่ผ่านมา อีกปัจจัย คือ เงินไหลเข้า หรือ fund flow เนื่องจากนโยบายค่าเงินอ่อนค่าของสหรัฐ ซึ่งเชื่อว่าหน่วยงานภาครัฐจะดูแลได้ ทั้งนี้ ควรเปิดให้นักลงทุนไทยนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นก็จะช่วยแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าได้บ้าง
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีประมาณร้อยละ 80-90 ไม่ทำประกันความเสี่ยงจากผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากไม่ทราบ จึงเป็นจุดที่น่าจะได้รับการแก้ไข ซึ่งขณะนี้ทางหอการค้าไทยจะร่วมกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยหรือเอ็กซิมแบงก์จัดอบรมให้ความรู้ผู้ประกอบการ คาดว่าสัปดาห์หน้าจะได้ข้อสรุปแผนการให้ความรู้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ซึ่งมีธุรกิจทั้งนำเข้าและส่งออก จึงเหมือนกับมีการทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไปในตัว จึงไม่มีการทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา
นายกลินท์ กล่าวว่า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคให้มีเม็ดเงินกระจายลงไปในพื้นที่โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวระดับเมืองรอง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว จึงมีข้อเสนอกระทรวงการคลังและกรมสรรพากรขอให้มีการจัดทำชุดมาตรการที่สามารถนำค่าใช้จ่ายนำพนักงานไปอบรมสัมมนาหรือท่องเที่ยวสามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเอกชน เช่น บริษัทขนาดใหญ่หรือนิติบุคคลต่าง ๆ สามารถนำพนักงานไปท่องเที่ยวในเมืองรองของการท่องเที่ยวมากขึ้นช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ. – สำนักข่าวไทย