กรุงเทพฯ 5 ก.ย. – กรมชลฯ น้ำเหนือยังทรงตัว น้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 1,500 ลบ.ม./วินาที ย้ำการรับน้ำเข้าทุ่งแก้มลิงต้องรอเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จหลัง 15 ก.ย. นี้
นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะได้รับรายงานจากกรมอุตุนิยมวิทยาว่าวันที่ 5 – 7 กันยายน ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่วนวันที่ 8-10 กันยายน ประเทศไทยจะมีฝนลดน้อยลงเว้นแต่ภาคใต้มีฝนมากกว่าภาคอื่น
สำหรับสถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 52,298 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 70 ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมดมากกว่าปี 2559 รวม 13,076 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 28,478 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 สามารถรองรับน้ำได้อีก 22,916 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกัน 15,140 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61 ของความจุอ่างฯ รวมกันปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 3,674 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 8,444 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 (ปี 2559 มีน้ำใช้การได้ 4,770 ล้าน ลบ.ม.) สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 9,731 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด (5 ก.ย.) กรมชลประทานพบว่ามีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานีC.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 1,858 ลบ.ม.ต่อวินาที มีแนวโน้มทรงตัว ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 3.27 เมตร มีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา1,498 ลบ.ม./วินาที ซึ่งบริเวณเหนือเขื่อนได้รับน้ำเข้าสู่คลองฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกรวมทั้ง 2 ฝั่งวันละประมาณ 409 ลบ.ม./วินาที ทั้งนี้ จะบริหารน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้เข้าคลองชลประทานมากที่สุดตามศักยภาพของพื้นที่พร้อมกับทดระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่ไหลมาจากจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อชะลอน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในระดับการควบคุม (ไม่เกิน +17.00 เมตร (รทก.)) ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบกับพื้นที่ตอนล่างบริเวณ อ.ผักไห่ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยาด้วย
รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การนำน้ำเข้าทุ่งแก้มลิง เพื่อตัดยอดน้ำหลาก ปัจจุบันทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก เก็บเกี่ยวข้าวเสร็จสามารถรับน้ำเข้าทุ่งได้ประมาณ 150 ล้าน ลบ.ม.(ความจุสูงสุด 400 ล้าน ลบ.ม.) ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่าง 1.15 ล้านไร่ มีข้อตกลงว่าเกษตรจะเก็บเกี่ยวเสร็จภายในวันที่ 15 กันยายนนี้ เพื่อใช้เป็นพื้นที่รับน้ำในช่วงน้ำหลาก ซึ่งจะต้องมีการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฝ่ายปกครอง กลุ่มเกษตรกรและชาวบ้านในพื้นที่ ต้องเห็นชอบร่วมกันให้เอาน้ำเข้าได้และจะต้องไม่กระทบต่อเส้นทางสัญจรหรือพื้นที่ชุมชน อย่างไรก็ตาม การนำน้ำเข้าทุ่งแก้มลิงจะต้องทำการตัดยอดน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาขึ้นไป เพื่อให้การป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ตอนล่างเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด.-สำนักข่าวไทย