ศาลยุติธรรม 1 ก.ย. – โฆษกศาล แจงข้อกฎหมาย “สรยุทธ” ยังสู้คดียื่นฎีกาข้อเท็จจริงได้ หากมีผู้พิพากษาที่พิจารณาลงชื่อหรือ อสส.รับรองฎีกา
นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึง ขั้นตอนกฎหมายในการยื่นฎีกา คดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุกนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา อายุ 51 ปี อดีตพิธีกรรายการข่าวชื่อดัง และกรรมการผู้จัดการ บจก.ไร่ส้ม กับพวก ฐานสนับสนุนพนักงานรัฐ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อกระทำการในตำเเหน่ง, เป็นพนักงานใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตเสียหายแก่องค์กร , ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก กระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 6 กระทง
นายสืบพงษ์ กล่าวว่า เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืน จึงเป็นคดีต้องห้ามฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคเเรก ที่ระบุว่า ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่าง หรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งคดีนี้ศาลจำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน เท่ากับกระทงละไม่เกิน 5 ปี จึงเป็นคดีต้องห้ามฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง เเต่ในข้อกฎหมายตัวจำเลยยังสามารถฎีกาได้ ไม่มีปัญหา
“การจะยื่นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จะต้องดำเนินการตามมาตรา221 ซึ่งบัญญัติเกี่ยวกับคดีต้องห้ามฎีกาไว้ว่า ถ้าผู้พิพากษาคนใดที่เป็นผู้พิจารณาสำนวน หรือ ผู้พิพากษาที่ลงชื่อทำความเห็นแย้งในคดีนี้ ไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอัน ควรสู่ศาลสูงสุดและมีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกา หรือ กรณีที่อัยการสูงสุดลงชื่อรับรองฎีกา ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย ก็ให้สามารถฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้เช่นกัน” นายสืบพงษ์ กล่าว .- สำนักข่าวไทย