รร.สวิสโซเทล 31 ส.ค. – รฟม.ประกาศความพร้อมเตรียมก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี โดยเฉพาะการเตรียมงานแก้ปัญหาจราจรระหว่างก่อสร้างกว่า 5 ปี คาดว่าจะมีหลายจุดวิกฤติ
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จัดงาน “Smart Life by MRT Orange Line เชื่อมสายทาง สร้างคุณภาพชีวิต” มีหน่วยงานที่กี่ยวข้อง ทั้งตำรวจนครบาล บริษัทที่ปรึกษาโครงการเข้าร่วม โดยนายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล ที่ปรึกษา รฟม. รักษาการแทนรองผู้ว่าการ รฟม.ยืนยันว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มปัจจุบันมีความคืบหน้าสิ้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาที่ร้อยละ 1.4 และภายในเดือนกันยายนจะเร่งรัดการเข้าพื้นที่เขตการก่อสร้างภายในเมืองหลายจุด เพื่อทำการรื้อย้ายสาธารณูปโภคระหว่างการก่อสร้าง รวมทั้งประสานงานเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรลดผลกระทบประชาชนผู้ใช้ทางมากที่สุด โดยเฉพาะถนนที่เป็นจุดวิกฤติ เช่น รามคำแหง รวมทั้งการเตรียมแผนก่อสร้างที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุและให้งานมีความปลอดภัยสูงสุด
ทั้งนี้ การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 6 ปี หรือเสร็จปี 2566 เมื่อเปิดให้บริการจะถือเป็นเส้นทางระบบรถไฟฟ้าสำคัญมีผู้ใช้บริการต่อวันสูงถึง 400,000 คน มีจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าหลายเส้นทางไม่ว่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินหรือรถไฟฟ้าใต้ดิน สายสีเหลือง และสายสีชมพู
ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสีส้มตะวันตก ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอ ครม.ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมส่งรายละเอียดโครงการให้ รฟม.กลับมาพิจารณาเพิ่ม โดยเฉพาะประเด็นโครงการนี้จะเปิดให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างงานโยธาและระบบเดินรถไปพร้อมกัน เพื่อสามารถลดภาระเงินลงทุนของงบประมาณ หากเอกชนพร้อมก็สามารถดำเนินการได้
ขณะที่ พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า ถนนที่คาดว่าจะวิกฤติช่วงก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี คือ ถนนรามคำแหง เนื่องจากเป็นถนนที่มีสถาบันการศึกษา สำนักงาน และโรงงานจำนวนมาก และเมื่อเริ่มก่อสร้างจะปิดจราจรหรือเบี่ยงเส้นทางบางจุด เพื่อให้เกิดความสะดวก บชน.จำเป็นต้องรักษาช่องจราจรไว้ฝั่งละ 3 ช่องจราจรสำหรับขาเข้าและขาออก ส่วนการบรรเทาปัญหาช่วงชั่วโมงเร่งด่วนจะประสาน รฟม.และกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ สิ่งสำคัญระหว่างปิดเส้นทางบางจุดอาจจะต้องรณรงค์ให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และ รฟม.จะต้องประสานหน่วยงานอื่น เช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดรถชัตเตอร์บัสรับผู้โดยสาร รวมทั้งการใช้บริการเรือด่วนคู่ขนานไปกับถนนรามคำแหงก็จะช่วยบรรเทาปัญหาได้.-สำนักข่าวไทย