กทม. 30 ส.ค.-ในอดีตประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีขอลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศหลายคน ขณะที่การขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนในกรณีที่ต้องการให้คนกระทำผิดแล้วหลบหนีไปต่างประเทศกลับมารับโทษ มีกระบวนการอย่างไร ติดตามจากรายงาน
หลังจากที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาในคดีรับจำนำข้าว และหลบหนีไป เกิดคำถามถึงช่องทางทางกฎหมายที่สามารถดำเนินการได้ทั้งเรื่องการขอลี้ภัยไปอยู่ในต่างประเทศตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 หรือการขอให้ดำเนินการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551 ในกรณีหากวันที่ 27 กันยายนนี้ ศาลตัดสินว่านางสาวยิ่งลักษณ์มีความผิด
ในประเด็นการลี้ภัยสามารถทำได้ โดยมูลเหตุเรื่องเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา และการเมือง ซึ่งสามารถยื่นคำร้องขอลี้ภัยได้ต่อรัฐบาลของประเทศที่จะลี้ภัย ซึ่งต้องมีหลักฐานและต้องแสดงเหตุผล
ในอดีตนายกรัฐมนตรีไทยลี้ภัยไปต่างประเทศหลายคน คือ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ลี้ภัยไปประเทศญี่ปุ่นจากการรัฐประหาร, นายทวี บุณยเกตุ นายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ลี้ภัยทางการเมืองไปประเทศมาเลเซีย เพราะถูกทหารยึดอำนาจ, นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ที่ลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศจีนและฝรั่งเศส จากการรัฐประหาร ขณะที่นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 หนีคดี และขณะนี้ถือสัญชาติประเทศมอนเตรเนโกร ซึ่งในกรณีของนายทักษิณ ไทยได้ยื่นขอตัวส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปแล้ว 10 ครั้ง แต่ไม่ได้รับคำตอบกลับ
ประเทศไทยไทยมีสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับ 14 ประเทศ แต่จะดำเนินการขอตามช่องทางการทูตไปยังประเทศที่ไม่มีสนธิสัญญาก็ได้โดยเงื่อนไข ต้องเป็นคดีอาญา ผิดต่อกฎหมายของทั้ง 2 ประเทศ มีโทษจำคุกมากกว่า 1 ปี และไม่ใช่คดีการเมือง
ขั้นตอนการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ทางการไทยจะทำเรื่องส่งให้ประเทศที่ต้องการขอ ซึ่งประเทศนั้นจะนำตัวจำเลยขึ้นศาล และไต่สวนเสมือนคดีเกิดขึ้นในประเทศ ก่อนจะตัดสินคดี หากตัดสินว่าไม่ผิดก็ไม่ต้องส่งกลับไทย แต่หากผิด จำเลยสามารถอุทธรณ์ได้ แต่หากศาลยืนตามคำพิพากษาว่าผิด ก็ต้องส่งตัวกลับไทย ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการส่งตัวกลับเฉพาะคดีอาญา เช่น คดียักยอกเงินของนายราเกซ สักเสนา, นายทนง ศิริปรีชาพงษ์ หรือ ป. เป็ด ถูกขอให้ส่งตัวกลับจากคดียาเสพติด
ในคดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ หากศาลตัดสินว่ามีความผิดในคดีรับจำนำข้าว และต้องดำเนินกระบวนการขอตัวผู้ร้ายข้ามแดน สิ่งสำคัญคือการพิจารณาประเทศที่หลบหนีไปว่าเป็นคดีการเมืองหรือไม่ อย่างไรก็ตาม กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 และปรับปรุงมาจนถึงฉบับปัจจุบัน โดยคำนึงถึงสัมพันธภาพระหว่างประเทศ.-สำนักข่าวไทย