สุรินทร์ 30 ส.ค. – ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย มีข้อมูลพบว่า เด็กยากจนกว่า 3 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน และไม่ได้เรียนต่อเกือบล้านคน
บ้านไม่มีผนัง ใช้สังกะสีเก่ามุงหลังคา ไม่มีห้องน้ำ คือที่อยู่ของครอบครัวน้องเฟิร์น สภาพแวดล้อมทำให้เธอเป็นโรคไข้เลือดออกติดต่อกัน 3 ปี ร่างกายไม่แข็งแรง ทั้งช่วยแม่ทำงาน เลี้ยงน้อง เพราะยากจน มีรายได้ไม่ถึง 6,000 บาท/เดือน แต่ยังเรียนดี ได้คะแนนสูงสุดของโรงเรียน
น้องเฟิร์นอยากเป็นครู แต่หากไม่มีเงินก็พร้อมยอมรับชะตากรรม แม้แม่รู้ว่าสามารถกู้เงินจาก กยศ.เรียนได้ แต่ไม่อยากให้ลูกเป็นหนี้ ยอมทนอดดีกว่า
น้องเฟิร์นเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนพันธุลี มีนักเรียน 70 คน ทั้งหมดยากจน แม้โรงเรียนได้รับงบดูแล 4,000 บาท/ปี เฉลี่ยไม่ถึง 400 บาท/คน ถึงเรียนฟรี มีงบซื้อชุดเพียง 360 บาท หรือเพียง 1 ชุด แต่ไม่พอ ต้องซื้อเพิ่ม รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ สำหรับครอบครัวยากจนต้องหาเงินเพิ่มอย่างต่ำ 3,000 บาท ทำให้มีเด็กไม่ถึง 10 คน ได้เรียนต่อ ม.ต้น และบางส่วนต้องออกกลางคัน
สุรินทร์เป็นจังหวัดที่มีเด็กออกนอกระบบมากที่สุดในประเทศไทย จำนวนกว่า 15,000 คน สาเหตุสำคัญนั้นมาจากความยากจน
สมัชชาการศึกษาสุรินทร์ พบเด็กยากจนกว่า 120,000 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ไม่จบชั้น ม.3 และไม่เรียนต่อ ม.ปลาย ทุกคนอยากเรียนต่อ แต่ไม่มีเงิน จึงต้องใช้แรงงาน แม้รัฐให้เรียนฟรี 15 ปี แต่ไม่ฟรีจริง ซึ่งจะเบิกงบจากหน่วยอื่นช่วยได้ไม่มาก
ไทยมีเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 18 ปี เกือบ 15 ล้านคน เป็นเด็กยากจนกว่า 3 ล้านคน ต้องออกกลางคัน ไม่ได้เรียนต่อกว่า 70,000 คน งบกระทรวงศึกษาธิการเพิ่มทุกปี แต่ผลวิจัยการทำบัญชีรายจ่ายเรื่องการศึกษาแห่งชาติ ระบุชัดการใช้จ่ายยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ภาระหนักจึงตกที่ครอบครัวยากจน ส่งผลให้รัฐธรรมนูญปี 60 กำหนดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ซึ่งคณะอนุกรรมการด้านกองทุนฯ ลงพื้นที่พูดคุยกับประชาชน ฟังความเห็นเพื่อร่างกฎหมาย และประกาศใช้กลางปีหน้า. – สำนักข่าวไทย