นนทบุรี 30 ส.ค.-สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ผลักดันการออกรับรอง Hallmark มุ่งเสริมภาพลักษณ์ไทยในฐานะศูนย์กลางอัญมณีและเครื่องประดับ
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ หรือ GIT เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าภายในและระหว่างประเทศ การท่องเที่ยว การจ้างงาน การสร้างมูลค่าเพิ่ม การยกระดับความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งก่อให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจผลิตสินค้าและบริการเกี่ยวเนื่องจำนวนมาก ซึ่ง อัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าส่งออกที่นำรายได้เข้าประเทศได้มากเป็นอันดับที่ 3 เป็นรองแค่ รถยนต์ และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ โดยตลาดสำคัญที่ไทยส่งออก ได้แก่ยุโรป ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง โดยสินค้าที่ไทยส่งออกมาก ได้แก่ ทองคำ เครื่องประดับทองแท้ เครื่องประดับเงินแท้ และเพชร โดยการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (รวมทองคำ) ปี 2559 มีมูลค่าอยู่ที่ 501,080.48 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.49ต่อ GDP ของประเทศ
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีจึงได้มอบหมายให้ กระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (GIT) ร่วมมือกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาจัดทำและพัฒนามาตรฐานสินค้าให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลกอย่างกว้างขวาง รวมถึงกำหนดตราสัญลักษณ์กลางที่ใช้รับประกันคุณภาพ (Hallmark) สำหรับหมวดสินค้าเครื่องประดับโดยเฉพาะ
สำหรับเครื่องหมาย Hallmark นั้น GIT ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546-2559 โดยได้มีการศึกษากฎระเบียบของประเทศต่างๆ ที่มีการใช้ Hallmark เช่น ประเทศอังกฤษ และสวิสเซอร์แลนด์ และยังได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำร่างระเบียบและการรับรองมาตรฐานเครื่องประดับโลหะมีค่าของไทย และเมื่อในวันที่ 28 ส.ค.2560 GIT ได้จัดการประชุมว่าด้วยเรื่อง การออกระเบียบสถาบันฯ ว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานเครื่องประดับโลหะมีค่า พ.ศ.2560 หรือเครื่องหมาย Hallmark ที่ GIT จะนำมาใช้ในการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานโลหะมีค่า เพื่อยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุม Grand Atelier ชั้น 4 โรงแรม เลอ เมอริเดียน กรุงเทพฯ
อย่างไรก็ตาม การนำเครื่องหมาย Hallmark มาใช้ จะมีส่วนช่วยส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางอัญมณีและเครื่องประดับให้กับไทย เพราะที่ผ่านมา ไทยเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกเครื่องประดับรายใหญ่ของโลก แต่การส่งออกเครื่องประดับของไทยยังขาดการรับรองตราสัญลักษณ์บนเครื่องประดับที่เป็นที่ยอมรับ และไม่มีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐานของเครื่องประดับอย่างเป็นทางการ รวมถึงไม่มีกฎหมายเรื่องมาตรฐานเครื่องประดับ ซึ่ง GIT ได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้ และได้เร่งแก้ไข เพื่อสร้างมาตรฐานและการรับรองมาตรฐานเครื่องประดับ และเชื่อว่าหลังจากนี้ GIT จะดำเนินการแผนการสร้างการรับรู้และสร้าง การยอมรับให้กับเครื่องหมาย Hallmark ของไทย และ GIT จะผลักดันให้ผู้ประกอบการที่ผลิตและส่งออกเครื่องประดับ ให้มาตรวจสอบคุณภาพเครื่องประดับโลหะมีค่าเพื่อขอการรับรอง Hallmark และจากนั้น จะเดินหน้าสร้างการรับรู้ให้กับประเทศคู่ค้า เพื่อให้ยอมรับเครื่องหมาย Hallmark ของไทย ซึ่งจะทำให้การส่งออกเครื่องประดับมีความคล่องตัวมากขึ้น สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ 02 634 4999 ต่อ 636 – 642 และสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ www.git.or.th
นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ GIT ได้จัดโครงการ The World Most Beautiful Ruby Contest เพื่อร่วมค้นหาทับทิมที่สวยที่สุดจากทั่วทุกมุมโลก โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญและคณะกรรมการตัดสินที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกมาร่วมในการพิจารณาและคัดเลือกทับทิมที่สวยที่สุดจากทั่วทุกมุมโลก โดยผู้ชนะจะได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และประกาศนียบัตร โดยสถาบันฯ จะนำทับทิมที่ผ่านการคัดเลือกไปจัดแสดงภายในงานบางกอกเจมส์ แอนด์ จิวเวลรี่ แฟร์ ครั้งที่ 60 ระหว่างวันที่ 6-8 ก.ย.2560 ณ บริเวณด้านหน้าฮอล์ 2 อิมแพค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี โดยคาดว่ามูลค่าของทับทิมที่เข้าร่วมการประกวดครั้งนี้มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทสำหรับทับทิมที่จัดประกวดแบ่งออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ ทับทิมที่ไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพ และทับทิมที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยวิธีการเผาแบบดั้งเดิม น้ำหนัก 3-5 กะรัต , 5-10 และ 10 กะรัตขึ้นไป .-สำนักข่าวไทย