หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้คุณภาพสื่อจะช่วยปกป้องเสรีภาพ สนับสนุนกฎหมายสื่อดูแลกันเอง ไร้อำนาจรัฐแทรกแซง

สถาบันพระปกเกล้า 27 ส.ค.- ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 9.00 น. วันนี้ (27 ส.ค.)นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ไปร่วมเสวนาหัวข้อ บทบาทสื่อมวลชนไทยในยุคเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยภายใต้กติกาใหม่ ที่นักศึกษาหลักสูตรวุฒิบัตรความรู้ทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า จัดขึ้น


โดยนายอภิสิทธิ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า หากสังคมต้องการประชาธิปไตย สื่อมวลชนก็เป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อให้กลไกการตรวจสอบในสังคมเกิดขึ้นได้ และสื่อยังจะต้องเป็นผู้นำทางความคิด หากสื่อไม่ทำหน้าที่นี้ แต่อ้างเพียงสะท้อนสิ่งที่เป็นอยู่ สังคมก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ส่วนปัญหาของสื่อมวลชนเมื่อประมาณ 25 ปีที่แล้วจนมาถึงปัจจุบันยังวนเวียนกับปัญหา 2 เรื่อง คือ เรื่องเสรีภาพ และคุณภาพของสื่อ แต่ปัจจุบันเสรีภาพสื่อมวลชนไทย กลับอยู่ในอันดับต่ำกว่า 100 ดังนั้น เสรีภาพของสื่อจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่กลับถูกอำนาจรัฐและธุรกิจเข้ามาควบคุม คุกคาม แทรกแซง เช่น กรณีที่นักข่าวอิศรา ถูกกระบวนการยุติธรรมเข้ามาคุกคามการทำหน้าที่ตรวจสอบ และยังรวมไปถึงกรณีของนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสที่เนื้อหาต่างๆ ที่เจ้าตัวแสดงออกนั้น ไม่น่าถึงขนาดถูกกฎหมายความมั่นคงเข้ามาแทรกแซง จึงสะท้อนให้เห็นว่า สื่อมวลชนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ

นายอภิสิทธิ์ ยังมองถึงกรณีที่รัฐบาลขอความร่วมมือสื่อมวลชนร่วมทำข่าว ครม.สัญจรว่า ไม่เชิงเป็นการแทรกแซง แต่เป็นการขอความร่วมมือที่ไม่ถูกวิธีการ พร้อมระบุถึงปัญหาของสื่อมวลชนปัจจุบัน คือ หลายสื่อมวลชน เลือกที่จะจำกัดเสรีภาพตัวเอง เพราะมีสื่อมวลชนที่ตัดสินใจยุติการนำเสนอข่าวล่อแหลม เพื่อความอยู่รอดของตนเองและผู้มีอำนาจรัฐ เพราะกลัวเกิดความขัดแย้ง แต่นายอภิสิทธิ์ มองว่า การกระทำเช่นนี้ จะทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น เพราะประชาชนจะไม่มีข้อมูลตัดสินใจที่เพียงพอมากกว่า 


นายอภิสิทธิ์ ยังแสดงความเป็นห่วงต่อเรื่องคุณภาพสื่อมวลชนว่า หากสื่อมวลชน ยังถูกสังคมมองว่าไม่มีคุณภาพ จะยิ่งทำให้สังคมไม่คิดปกป้องเสรีภาพสื่อ 

“ตอนนี้ผมไม่แน่ใจว่า คนที่เรียกตัวเองว่าสื่อมวลชนนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ เพราะทุกวันนี้ สื่อมวลชนมักจะรายงานเหตุการณ์ที่เกิดจากโซเชียลมีเดียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งที่ไม่รู้ว่าใครเป็นโพสต์ด้วย ดังนั้น คำถามคือใครเป็นผู้สื่อข่าวกันแน่ ผมสงสัยที่รัฐบาลจะออกกฎหมายว่า ใครเป็นสื่อมวลชนต้องมีใบอนุญาต แล้วจะนับอย่างไรว่าใครเป็นสื่อมวลชน แล้วที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกรายการทุกวันศุกร์นั้น จะต้องมีใบอนุญาตสื่อด้วยหรือไม่” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หากสื่อไม่แยกการทำข่าวกับการทำธุรกิจนั้น ทุกวันนี้ไม่ใช่แค่ธุรกิจแล้ว แต่รวมถึงภาครัฐด้วย เพราะข่าวบางข่าวเป็นข่าวประชาสัมพันธ์ให้กับภาครัฐ ปัญหาต่อมาคือ สื่อจะรับผิดชอบต่อประชาชนอย่างไร และเมื่อสังคมเป็นสังคมที่แบ่งขั้ว ต่างฝ่ายต่างไม่ฟังกันมากขึ้น การที่จะให้สังคมตรวจสอบสื่อจึงเป็นไปได้ยาก แต่ยืนยันว่า กฎหมายที่รัฐบาลชุดนี้จะออกมา ตนไม่ยอมรับเรื่องการให้คนของภาครัฐเข้ามายุ่งกับสื่อ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของภาครัฐ ส่วนเรื่องใบประกอบวิชาชีพนั้น เห็นว่า ไม่สามารถทำได้ แต่หากจะไม่ให้มีกฎหมายออกมา สื่อจะตอบคำถามได้หรือไม่ว่า สื่อจะให้ความเป็นธรรมอย่างแท้จริงได้อย่างไร จึงกลายเป็นเรื่องยากที่ให้สื่อกำกับดูแลกันเอง ดังนั้น ต้องมีกฎหมายที่ออกมากำกับสื่อ มอบดาบกับสื่อมวลชน เพื่อให้การกำกับควบคุมกันเองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพียงแต่สื่อจะต้องไม่ถูกแทรกแซงจากอำนาจรัฐ สื่อต้องจัดระบบธรรมาภิบาลของสื่อ หากสื่อคิดว่า รายงานอะไรก็ได้ วันนี้ใครรายงานอะไรก็ได้อยู่แล้ว จึงเป็นสิ่งที่น่าคิดว่า สื่อจะทำอย่างไรให้เห็นว่า คุณค่าความเป็นวิชาชีพสื่อต่างจากคนที่ไม่ใช่สื่อ 


นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ก็จะต้องมีกฎหมายดูแลสื่อ แต่ต้องแก้ปัญหาการใช้อิทธิพลของภาครัฐและธุรกิจเข้ามามีอำนาจต่อรองในสื่อ ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองและสื่อมวลชน ต้องพึ่งพากันและกัน แต่ก็ยอมกันและกันไม่ได้ เพราะต่างฝ่ายต้องทำหน้าที่ของตนเอง

ด้านนายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์ไทยและประธานคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป กล่าวว่า ข่าวต้องเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ แต่ตนยอมรับความคิดของนายอภิสิทธิ์ที่เห็นว่า ทุกวันนี้สื่อตามกระแสในโซเชียลมีเดีย แต่กลับไม่มีคำถามว่า ข้อมูลนั้นเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือไม่ ขณะที่เห็นการพัฒนาของสื่อรุ่นใหม่ และเห็นการถดถอยของบางสื่อ ยอมรับเป็นห่วงเพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบทบาทของโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดคำถามว่า คนยังอ่านหนังสือพิมพ์อยู่หรือไม่ โซเชียลมีเดียในแง่บวกก็ทำให้โลกเปิดกว้าง ทำให้คนในสังคมตระหนักว่าไม่จำเป็นต้องพึ่งสื่อในกระแสหลักอีกต่อไป  ขณะที่ยอดส่งหนังสือพิมพ์ลดลงเรื่อยๆ วงการโทรทัศน์ก็เช่นเดียวกัน ในอดีตมีเพียงไม่กี่ช่อง แต่ปัจจุบันมีจำนวนมาก เชื่อว่า อีกไม่นาน ประชาชนจะอ่านหนังสือพิมพ์และติดตามข่าวทางโทรทัศน์น้อยลง แต่คนในสังคมติดตามโซเชียลมีเดียมากขึ้น 

“เมื่อสื่อแข่งขันกันมาก ก็จะมีผลกระทบกับวิชาชีพสื่อ บางสำนักข่าวยอมเป็นเครื่องมือทางการตลาด ทุกวันนี้เริ่มแยกไม่ออกกับข่าวและการโปรโมทสินค้า ผมเป็นห่วงว่า นักข่าวรุ่นใหม่จะแยกไม่ออกระหว่างการทำหน้าที่สื่อตามวิชาชีพกับเรื่องของธุรกิจ ทีวีดิจิตอลหลายช่องเริ่มไปไม่รอด มีการเทคโอเวอร์เกิดขึ้น สื่อกระแสหลักทยอยอยู่ในการควบคุมของธุรกิจรายใหญ่ 

นายเทพชัย ยังยืนยันว่า สื่อควรกำกับดูแลกันเอง ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายให้อำนาจในเชิงลงโทษกับองค์กรสื่อ เพราะมีโอกาสที่จะถูกแทรกแซงจากการเมืองได้ แตสื่อเองต้องกลับมาทบทวนบทบาทของตนเอง สังคมก็ต้องถามตัวเองว่า พร้อมที่จะมีบทบาทในการตรวจสอบและกำกับสื่ออย่างไร เพราะสุดท้ายแล้วสื่อย่อมกลัวผู้บริโภค ยอมรับว่า สังคมขณะนี้ตื่นตัวสูงมาก ถ้ามองในแง่บวก พบว่า โซเชียลมีเดียเริ่มมีบทบาทในการตรวจสอบสื่อกระแสหลักแล้ว ดังนั้น สื่อต้องแก้ไขภาพลักษณ์ในสายตาคนในสังคม และหากจะให้สื่อมีประสิทธิภาพ สังคมก็ควรตื่นตัวในการตรวจสอบสื่อเช่นกัน 

“เราคงปฏิเสธการมีกฎหมายไม่ได้ ยอมรับว่า มีจุดอ่อนที่ไม่มีอำนาจการลงโทษ องค์กรสื่อก็หนักใจ เพราะฉะนั้นการมีกฎหมาย มีการกำหนดให้ระดับการกำกับดูแลสื่อ ก็เป็นกระบวนการที่องค์กรสื่อเห็นว่าควรจะมี แต่ยังถกเถียงเรื่องการมีอำนาจกำกับดูแล แต่ไม่ใช่หน้าที่ของภาครัฐที่จะกำกับดูแลสื่อ” นายเทพชัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย 

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เหล้าเถื่อนลาว

เสียชีวิตรายที่ 6 คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว

คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตเพิ่มรายที่ 6 เป็นหญิงชาวออสเตรเลีย เสียชีวิตขณะรักษาตัวในไทย

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษา ทบ.

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก ช่วยปฏิบัติราชการที่กองบัญชาการกองทัพบก หลังถูกร้องทำร้ายร่างกายผู้ใต้บังคับบัญชา พร้อมช่วยเจ้าทุกข์ย้ายหน่วยตามร้องขอ

ไฟไหม้โรงงานพัดลม เผาวอดเสียหายกว่า 50 ล้าน

ไฟไหม้โรงงานผลิตพัดลมรายใหญ่ จ.สมุทรสาคร ระดมรถดับเพลิงระงับเหตุ กว่า 5 ชม. จึงควบคุมไว้ได้ในวงจำกัด เบื้องต้นเสียหายกว่า 50 ล้านบาท

ข่าวแนะนำ

ชาวนครฯ ฝ่าสายฝนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.

ชาวนครศรีธรรมราช ฝ่าสายฝนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง นายก อบจ.ต่อเนื่อง หลังเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเปิดให้มีการลงคะแนน

เปิดหีบเลือกตั้ง “นายก อบจ.อุดรธานี” ปชช.ทยอยใช้สิทธิ

ชาวอุดรธานีทยอยใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ. ต่อเนื่อง ด้านเลขาธิการ กกต. เผยคืนหมาหอน ทั้งที่อุดรธานี เพชรบุรี และนครศรีธรรมราช ยังไม่พบการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง

กรมอุตุฯ เผยไทยตอนบนอุณหภูมิสูงขึ้น-ภาคใต้ฝนตกหนัก

กรมอุตุฯ เผยไทยตอนบนอุณหภูมิสูงขึ้น เตือนภาคใต้ตอนล่างฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก