กรุงเทพฯ 19 ส.ค.-ผู้ว่าการ สตง.ยันตรวจสอบทุกกลุ่ม แนะเพิ่มอำนาจ สตง.เชิญ กกต.-ป.ป.ช. ร่วมตรวจสอบงบแผ่นดิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ส.ค.) คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน จัดการเสวนาโต๊ะกลม หัวข้อ “บ้านเมืองมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” โดยนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวถึงการตรวจสอบทุจริตประพฤติมิชอบในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นองค์กรอิสระ ไม่ว่าใครจะสรรหามาก็ทำงานอย่างอิสระ และตนไม่เคยติดหนี้ใคร ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ หลายอย่างต้องตรวจสอบเชิงรุก เพื่อเป็นการป้องปราม ไม่ได้ตรวจสอบหลังเกิดปัญหาอย่างเดียว และเมื่อ สตง.ทำแบบเชิงรุก ก็ถูกกล่าวหาว่าไปจับผิดหน่วยงานต่าง ๆ ขอยืนยันว่าการตรวจสอบของ สตง.ไม่มีการเลือกว่าเป็นกลุ่มใด สีไหน เช่น การตรวจสอบการใช้งบประมาณขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการพาคนทัศนศึกษานอกสถานที่ที่มีการร้องเรียนว่าเป็นการขนคนไปให้กำลังใจ ซึ่งการใช้จ่ายงบประมาณใด ๆ ต้องตอบโจทย์โครงการที่ตั้งไว้ ต้องไม่มีนัยแอบแฝง
นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ประชาชนเป็นเหยื่ออันโอชะของนักการเมืองที่มีอภิมหาโปรเจค เช่น การสร้างศูนย์แสดงสินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ที่สร้างความเสียหายทั้งประเทศ หรือ การสร้างสนามกีฬาแห่งหนึ่ง ที่การกีฬาแห่งประเทศไทย โอนงบประมาณให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องดำเนินการโดยไม่มีการเปิดประมูล จนทำให้เกิดความเสียหายหลายอย่างตามมา
“มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าโครงการประชานิยมไม่ดี ส่วนตัวมองว่าหากเป็นสิ่งที่ชาวบ้านเรียกร้องมันก็ดี แต่ที่ทำให้โครงการประชานิยมไม่ดีจริง เพราะมีการแอบอ้าง มีผลประโยชน์ทับซ้อนของกลุ่มคนที่มีอำนาจทางการเมือง ที่ผ่านมา สตง.เคยเตือนโครงการที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหลายครั้ง เช่น โครงการรับจำนำข้าว โครงการขายข้าวจีทูจี ที่สุดท้ายเกิดเสียหายนับแสนล้านบาท นอกจากนี้เห็นว่าควรเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้ สตง. ในการเชิญ กกต. และ ป.ป.ช. มาช่วยตรวจสอบนโยบายหรือโครงการที่เห็นว่าไม่เหมาะสม แอบแฝงในการหาเสียงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง หาก 3 หน่วยงานนี้เห็นพ้องก็สามารถเสนอ ครม. หรือสภาในการระงับโครงการ และควรให้ สตง.มีอำนาจในการเรียกคืนความเสียหายโครงการต่าง ๆ ส่วนมาตรา 44 จะหายไปหรือไม่ แต่คนส่วนหนึ่งก็เห็นว่าดี เพราะทำให้สามารถเอาผิดข้าราชการระดับสูง ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ นายกฯบริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งหากไม่ให้หยุดทำหน้าที่ ก็จะทำให้ยากในการตรวจสอบการทุจริต มาตรา 44 จึงเป็นมาตรการใหม่ในการหยุดยั้งการบริหารที่ไม่โปร่งใส” นายพิศิษฐ์ กล่าว
นายพิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนของกองทัพเรือ ผ่านการตรวจสอบของ สตง.แล้ว และแถลงข่าวไปแล้ว ซึ่งไม่มีอะไรผิดขั้นตอนหรือผิดระเบียบ และก็ส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบต่อแล้ว ซึ่งยังไม่พบอะไร อย่างไรก็ตาม บางอย่างก็ไม่สามารถพูดได้หมด เพราะเป็นเรื่องความมั่นคง
ด้านนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า เรื่องทุจริตหลายเรื่องมาจากนโยบาย และส่วนหนึ่งก็มาจากจิตสำนึกของคน 10 ปีมานี้ เกิดการทุจริตตั้งแต่ทำเนียบฯ จนถึงทุ่งนา พบว่าปัญหาที่พบ คือ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ.-สำนักข่าวไทย