กรุงเทพฯ 19 ส.ค. – เงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง กสิกรไทยคาดสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหว 33.10-33.30 บาท/ดอลลาร์ฯ ขณะที่ตลาดหุ้นคาดแนวรับ 1,535 – 1,555 จุด จับตาตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 และข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐ
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) รายงานว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา (15-18 ส.ค.) เงินบาทแตะระดับ 33.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าสุดในรอบ 27 เดือนครั้งใหม่ หลังจากเงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงกดดันต่อเนื่องจากประเด็นการเมืองภายในของสหรัฐ ซึ่งอาจทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐมีความล่าช้า ขณะที่จังหวะเวลาการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐก็มีความไม่แน่นอนมากขึ้น หลังจากบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 25-26 กรกฎาคม สะท้อนว่าเจ้าหน้าที่เฟดมีท่าทีกังวลต่อความอ่อนแอของเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ เงินบาทมีปัจจัยหนุนเพิ่มบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์จากการกลับมาซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยวันที่ 18 สิงหาคม เงินบาทอยู่ที่ 33.21 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 33.23 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา
สำหรับสัปดาห์หน้า (21-25 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.10-33.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยจุดสนใจของตลาดในประเทศน่าจะอยู่ที่ข้อมูลจีดีพีไตรมาส 2/2560 ของไทย ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ ดัชนี PMI (เบื้องต้น) สำหรับเดือนสิงหาคมของหลาย ประเทศ ตัวเลขยอดขายบ้านใหม่-บ้านมือสอง และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนกรกฎาคมของสหรัฐ รวมถึงสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรปจากงานประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็คสันโฮล วันที่ 24-26 สิงหาคม นอกจากนี้ นักลงทุนอาจมีจุดสนใจเพิ่มที่ประเด็นการเมืองระหว่างประเทศในช่วงการซ้อมรบระหว่างสหรัฐและเกาหลีใต้วันที่ 21 สิงหาคมนี้
ด้านดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นเล็กน้อย ดัชนีปิดที่ระดับ 1,566.53 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.33 จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6.49 จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 38,457.15 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 534.07 จุด ลดลงร้อยละ 0.28 จากสัปดาห์ก่อน ส่วนสัปดาห์หน้า (21-25 ส.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,555 และ 1,535 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,575 และ 1,585 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2560 ของไทย ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐสำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนสิงหาคม ยอดขายบ้านใหม่และบ้านมือสอง และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนกรกฎาคม ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่น ๆ อาทิ การประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็คสันโฮล ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกรกฎาคมของประเทศญี่ปุ่น ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนสิงหาคมของประเทศแถบยุโรป และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2560 ของอังกฤษ.-สำนักข่าวไทย