รัฐสภา 17 ส.ค.-สนช.เห็นชอบตามกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ให้มีการเซตซีโร่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยเป็นประเด็นที่ สนช.ใช้เวลาถกเถียงกันมากที่สุด จนต้องพักการประชุม เพื่อให้กรรมาธิการกลับไปหารือ จนได้ข้อสรุปว่าควรกลับไปใช้ร่างของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ คือ ให้มีการเซตซีโร่
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในวาระ 2-3 ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดย พล.ร.อ.วัลลภ เกิดผล ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีทั้งหมด 67 มาตรา มีการแก้ไขเนื้อหา 18 มาตรา ซึ่งการแก้ไขได้นำความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบมาพิจารณาด้วย โดยมีผู้สงวนคำแปรญัตติ 4 มาตรา
สำหรับร่าง พ.ร.บ.กสม. กรรมาธิการฯ ได้ปรับแก้เพิ่มบางคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง กสม. ว่าจะต้องมีความรู้และประสบการณ์บางประการด้านสิทธิมนุษยชน และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ไม่น้อยกว่า 10 ปี เช่น ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสอน หรือวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนในระดับอุดมศึกษา หรือมีประสบการณ์ด้านการบริหารภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไม่น้อยกว่า 10 ปี ซึ่งเดิมกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดไว้เพียง 5 ปี อีกทั้งต้องมีความเชี่ยวชาญด้านภาษาต่างประเทศ
ส่วนประเด็นการเซตซีโร่นั้น นางจุรี วิจิตรวาทการ กรธ. และกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ยืนยันว่า ต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ กรธ.ว่าควรเซตซีโร่ กสม.ชุดปัจจุบันทั้งคณะ และให้อยู่รักษาการจนกว่าจะมี กสม.ชุดใหม่มาปฏิบัติหน้าที่แทน เนื่องจาก กสม.ชุดปัจจุบัน มีที่มาไม่สอดคล้องกับหลักการว่าด้วยสถานะและหน้าที่ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน หรือหลักการปารีส ทำให้ กสม.ไทยถูกลดสถานะจากเกรด A เป็น B
ด้านนายกล้านรงค์ จันทิก สนช. ยืนยันว่า กสม.ควรอยู่ดำรงตำแหน่งจนครบวาระ เนื่องจากการแต่งตั้งถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ หากเซตซีโร่จะทำให้ กสม.ถูกละเมิดสิทธิเอง อีกทั้งการพิจารณาว่าจะเซตซีโร่นั้นใช้หลักเหตุผล ไม่ใช่เรื่องของคุณสมบัติ จึงแตกต่างกับ กกต. และผู้ตรวจการแผ่นดิน
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม สนช.ใช้เวลาในการอภิปรายเรื่องการดำรงอยู่ของ กสม. เพราะตามร่างของ กรธ.ให้เซตซีโร่ กสม. แต่ในชั้นกรรมาธิการได้ปรับแก้ให้อยู่ครึ่งวาระ คือ 3 ปี นับจากวันที่รับตำแหน่ง เพราะเห็นว่าการเซตซีโร่จะเป็นการละเมิดสิทธิของกรรมการ และเพื่อความหลากหลายตามหลักการปารีส นอกจากนี้ การดำรงตำแหน่งต่อครึ่งวาระต่างจากการเซตซีโร่เพียง 100 กว่าวัน ขณะเดียวกัน สนช.ได้แปรญัตติให้ กสม.อยู่ครบวาระ ซึ่งที่ประชุมมีการอภิปรายอย่างยาวนาน และไม่สามารถหาข้อยุติได้ จึงเห็นควรให้พักการประชุม เพื่อให้กรรมาธิการได้หารือกันอีกครั้งก่อนลงมติ
จากนั้นประธานได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า กรรมาธิการมีความเห็นให้ยืนตามร่างเดิมที่ กรธ.เสนอให้เซตซีโร่ กสม.ชุดปัจจุบันทั้งคณะ โดยที่ประชุม สนช.ได้ลงมติเป็นรายมาตราในวาระ 2 ที่กรรมาธิการมีการแก้ไข โดยมีมติเห็นชอบมาตรา 60 ให้คงร่างเดิมตามที่ กรธ.เสนอให้เซตซีโร่ กสม. ด้วยมติ 177 ต่อ 20 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง ก่อนจะมีมติเป็นเอกฉันท์ 199 เสียง เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อประกาศเป็นกฎหมายต่อไป.-สำนักข่าวไทย