กรุงเทพฯ 15 ส.ค.-กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) เรียกร้องเชฟรอนฯ และ ปตท.สผ.ร่วมแข่งขันประมูลแหล่งหมดอายุทั้ง 2 แหล่ง คือ แหล่งเอราวัณ-บงกช เพื่อให้เกิดการแข่งขันตามหลักพีเอสซี อย่างไรก็ตาม ยอมรับพีเอสซีแม้จะดีในแง่เข้มงวดการผลิต แต่มีความเสี่ยงที่รัฐต้องลงทุนร่วม เสี่ยงขาดทุนหากราคาน้ำมันลดลงหรือไม่สามารถขุดพบปิโตรเลียม
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า หลังจาก ครม.วันนี้ ( 15 ส.ค.) เห็นชอบ เรื่อง ร่างกฎกระทรวงและร่างประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม ออกตามความในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวม 4 ฉบับ ซึ่งประเมินว่าหลังจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาผ่านความเห็นชอบแล้ว คาดว่าจะประกาศเปิดประมูลแหล่งหมดอายุสัมปทานในปี 2565-2566 คือแหล่ง “เอราวัณ-บงกช ” ได้ ภายในเดือน กันยายน-ตุลาคมนี้ ภายใต้หลักเกณฑ์ สัญญาแบ่งปันผลผลิต(พีเอสซี)หลังจากนั้นจะใช้ระยะเวลาในการคัดเลือกอีก 6 เดือน จึงทำให้คาดว่าจะได้ผู้ชนะประมูลภายในเดือน มีนาคม-เมษายน 2561 โดยแม้จะล้าช้ากว่าเป้าหมายเดิม 1-2 เดือน แต่ก็ยังทำให้มั่นใจว่า ยังอยู่ในแผนบริหารจัดการ นั้น คือ ปริมาณก๊าซจะลดลงเหลือ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายในปี 2564-2566 หลังจากปัจจุบันมีกำลังผลิตทั้ง 2แหล่งที่ประมาณ 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต(พีเอสซี)หรือสัญญาจ้างบริการ (เอสซี)เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียม โดยในส่วนเอสซีกำหนดว่า หากเป็นแหล่งน้ำมันจะต้องมีสำรอง 300ล้านบาร์เรล กำลังผลิตต่อหลุม 4 ล้านบาร์เรล/หลุ่ม และหากเป็นแหล่งก๊าซฯจะมีสำรอง 3 ล้านล้านลูกบาศ์กฟุต หรือกำลังผลิต 4 หมื่นล้านลูกบาศ์กฟุตต่อหลุม
ในขณะที่ ส่วนที่เหลือคือ พีเอสซีและสัมปทาน จะพิจารณา จากโอกาสหรือสถิติการพบปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์เปรียบเทียบกับของประเทศ ที่มีเฉลี่ยร้อยละ 39 โดยแบ่งเป็นรายภาคตามการประเมินทางธรณีวิทยา หากพบมากกว่าร้อยละ 39 จะเป็นการใช้ระบบพีเอสซี หากน้อยกว่านั้นเป็นระบบสัมปทาน โดยแบ่งเป็นรายภาคดังนี้ อ่าวไทย ใช้พีเอสซี เนื่องจากพบร้อยละ 50 ส่วนที่เหลืออีก 4ภาคทั้งบนบกและอันดามัน ใช้ระบบสัมปทาน เนื่องจากตามสถิติพบ ปิโตรเลียมร้อยละ 0-31 แบ่งเป็นภาคอีสานพบร้อยละ 14 ภาคเหนือและกลางพบร้อยละ 31 ภาคใต้บนบกและทะเลอันดามันพบร้อยละ 0
“การแบ่งหลักเกณฑ์สถิติการพบปิโตรเลียม ทำให้ เอราวัณ-บงกช ต้องเปิดประมูลแบบพีเอสซี ซึ่งก็อยากให้รายเดิม คือ บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งเป็นโอเปอเรเตอร์เดิม เข้าร่วมแข่งขันประมูลทั้ง 2 แหล่ง เพื่อให้ เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง ซึ่งในส่วนของเชฟรอนยังสงวนท่าทีเพราะต้องการดูทีโออาร์การประมูลที่ชัดเจนก่อนว่าผลตอบแทนการลงทุนยังจูงใจต่อไปหรือไม่” นายวีระศักดิ์ กล่าว
นายวีระศักดิ์ กล่าวด้วยว่ายอมรับว่า ระบบพีเอสซี เมือเทียบกับระบบสัมปทานแล้ว มีข้อดีคือ รัฐจะสามารถเข้าไปตรวจสอบอย่างรัดกุมทุกขั้นตอนตาม ข้อเสนอของผู้เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ข้อเสีย คือภาครัฐมีความเสี่ยงเพราะต้องเข้าไปร่วมลงทุนการผลิต ซึ่งไม่เหมือนกับระบบสัมปทานที่ภาครัฐไม่ต้องลงทุน ดังนั้นหากราคาน้ำมันลดต่ำลงภาครัฐก็ไม่ต้องเสี่ยงต่อการขาดทุนเหมือนพีเอสซี ส่วนผลตอบแทนระบบพีเอสซี ภาครัฐก็จะน้อยลงกว่าสัมปทานในปัจจุบัน โดยได้เหลือประมาณร้อยละ 68 จากสัญญาไทยแลนด์ฉบับที่3 ได้ประมาณร้อยละ 70 นอกจากนี้ ระบบพีเอสซีก็จะมีการบริหารงานล่าช้าและมีให้โอกาสให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงผ่านระบบบริหารงานได้ง่านกว่าระบบสัมปทาน -สำนักข่าวไทย