สมุทรปราการ 9 ส.ค. – ปลัดพลังงานหนุนโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ชูศูนย์จัดการขยะตำบลแพรกษาใหม่ต้นแบบจัดการขยะแบบครบวงจร มุ่งบริหารจัดการขยะชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) พร้อมคณะผู้บริหารลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิง RDF จากขยะชุมชนกลุ่มโรงงานบริษัท ราชบุรี –อีอีพี รีนิวเอเบิ้ล เอนเนอจี้ จำกัด ซึ่งนับเป็นศูนย์บริหารจัดการขยะชุมชนแบบครบวงจรที่มีการวบรวมขยะชุมชนในพื้นที่และนำมาสู่การคัดแยกขยะมูลฝอยประเภทต่าง ๆ นำไปสู่การรีไซเคิล และส่วนหนึ่งมาผ่านกระบวนการแปรรูปและจัดการต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพและคุณสมบัติทางเคมี ให้กลายเป็นเชื้อเพลิงขยะหรือ RDF (Refuse Derived Fuel) มาผลิตไฟฟ้า ซึ่งแนวทางการบริหารจัดการขยะดังกล่าวนับเป็นนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อลดปัญหาปริมาณขยะและปัญหาการจัดหาพื้นที่ฝังกลบ นับเป็นการควบคุมและบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับโรงไฟฟ้าขยะเป็นหนึ่งในพลังงานไฟฟ้าที่จัดอยู่ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) เพื่อจะแก้ไขปัญหากำจัดขยะไม่ถูกต้องและขยะสะสม ซึ่งนับวันปริมาณขยะของประเทศสูงขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะในเขตเมือง ซึ่งการบริหารจัดการขยะที่ตำบลแพรกษาใหม่เป็นตัวอย่างหนึ่งในการแก้ไขปัญหาขยะได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันขีดความสามารถบริหารจัดการขยะในศูนย์ฯ สามารถผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF ประมาณ 500 ตันต่อวัน โดยเป็นการคัดแยกทั้งขยะเก่า 1,000 ตันต่อวัน เพื่อป้อนเชื้อเพลิง RDF เข้าสู่โรงไฟฟ้า ขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกกะวัตต์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และได้รับการสนับสนุนรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนอัตราพิเศษในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ตามสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้า 20 ปีที่เริ่มเดินเครื่องและสามารถขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา
ปัจจุบันศูนย์บริหารจัดการขยะชุมชนแบบครบวงจร ต.แพรกษาใหม่ จ.สมุทรปราการ ซึ่งบริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด เป็นผู้บริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอย่างถูกหลัก โดยมีการคัดแยกขยะเป็นเชื้อเพลิง RDF คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45 ของขยะใหม่ที่ 4,000 ตันต่อวัน รองลงมาเป็นการแยกขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้มาทำปุ๋ยอินทรีย์ดินผสม ขยะที่แยกเป็นพลาสติกมีแผนที่จะทำน้ำมันไพโรไลซิส ฯลฯ ซึ่งถือเป็นการบริหารจัดการขยะที่ครบวงจรมีส่วนสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม นับเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากขยะที่อยู่ใกล้ชุมชนรองรับปริมาณขยะจากชุมชนจำนวนมากและเพียงพอต่อการนำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในโรงไฟฟ้า ถือเป็นโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิง RDFต้นแบบ ซึ่ง พพ.ยังคงมีนโยบายส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าขยะ โดยนำขยะที่เกิดขึ้นในชุมชนมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งสามารถดำเนินการได้ในพื้นที่อื่น ๆ เป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องของปริมาณขยะได้อย่างมีสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานวางเป้าหมายระยะยาวตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 (AEDP 2015) ที่จะรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากขยะชุมชนให้ได้ 500 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าขยะทั้งสิ้น 390 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าใช้พลังงานจากขยะชุมชนที่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 30 โครงการ กำลังการผลิต 180 เมกะวัตต์ มีโครงการที่เซ็นสัญญาซื้อ-ขายไฟ (PPA) แล้วแต่ยังไม่สามารถ COD 12 โครงการ กำลังการผลิต 90 เมกะวัตต์ รวมทั้งยังมีโครงการที่ตอบรับซื้อแล้วแต่ยังไม่เซ็น PPA 2 โครงการ กำลังการผลิต 120 เมกะวัตต์ นับว่าการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะจากชุมชนตามแผน ADEP 2015 มีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงมหาดไทยที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาขยะชุมชน ส่งผลให้เกิดการแก้ไขปัญหาขยะชุมชนที่มีการเพิ่มปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง.-สำนักข่าวไทย