กรุงเทพฯ 7 ส.ค.-นักวิชาการชี้สภาพอากาศปีนี้คล้ายกับปีที่มีน้ำท่วมใหญ่หลายครั้งในอดีต โดยพบสัญญาณความผิดปกติของสภาพภูมิอากาศ ที่มีโอกาสทำให้เกิดพายุขนาดใหญ่ในช่วงปลายปี และต้องจับตาต่อเนื่องถึงปีหน้า แนะเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมใหญ่
สถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.สกลนคร เมื่อต้นเดือนสิงหาคม เป็นกรณีศึกษาที่นักวิชาการซึ่งติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ชี้ว่าเป็นสัญญาณชัดเจนที่บ่งบอกถึงความผิดปกติของสภาพภูมิอากาศ ดึงให้ร่องมรสุมจากพายุเซินกา ตกย่ำอยู่ในพื้นที่สกลนครนานกว่าคาดการณ์เดิมถึง 3 วัน ประกอบน้ำในอ่างขนาดเล็กกว่า 20 แห่งรอบพื้นที่ มีปริมาณการกักเก็บเต็มความจุตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม จึงทำให้นำท่วมหนักที่สุดในรอบ 50 ปี
จากการติดตามสภาพอากาศตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา นักวิชาการพบว่า พฤติกรรมของสภาพอากาศแปรปรวนและผิดปกติชัดเจนมาตั้งแต่ต้นปี โดยเกิดฝนตกหนักน้ำท่วมใหญ่ในหลายจังหวัดภาคใต้ เกิดพายุงวงช้างในฤดูฝน และอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งลักษณะอากาศแบบนี้คล้ายคลึงกับลักษณะอากาศปีน้ำท่วมใหญ่ๆ ในอดีต รวมถึงปี 2554
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความกังวลให้นักวิชาการ เพราะมันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีโอกาสเกิดพายุใหญ่ในเดือนกันยายนถึงตุลาคมประมาณ 1-2 ลูก ซึ่งยากที่จะพยากรณ์ความรุนแรงและทิศทางของพายุ เนื่องจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ที่ทำให้การพยากรณ์ล่วงหน้าคลาดเคลื่อนได้
ตั้งแต่เดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป นักวิชาการเฝ้าจับตามองการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของประเทศไทยไปเป็นอิทธิพลจากลานีญา และเข้าสู่ลานีญารุนแรงในปีหน้า ซึ่งจะทำให้มีฝนตกหนักมากกว่าปกติและจะส่งผลอย่างชัดเจนในปี 2561-2562 นักวิชาการแนะให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือ เพราะอาจมีปริมาณน้ำมากกว่าปีน้ำท่วมใหญ่ในอดีตหลายเท่า.-สำนักข่าวไทย