กรุงเทพฯ 7 ส.ค.-มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ร่วมกับกรมศิลปากร จัดการแสดงมหรสพโขนพระราชทานในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อถวายความอาลัยและแสดงความจงรักภักดี ใช้นักแสดงนักเรียน นักศึกษา อาจารย์นาฏศิลป์กว่า 300 ชีวิต
ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการแสดงโขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นประธานแถลงข่าว มหรสพโขนพระราชทานในงานพระราชพิธี ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีคณะครูอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะไทยเข้าร่วม
ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ กล่าวถึงการแสดงโขนพระราชทาน ซึ่งได้ดำเนินงานมากว่า 10 ปี ในวาระงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ในวันที่ 26 ตุลาคมนี้ คณะโขนพระราชทานได้รับมอบหมายให้เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการแสดงมหรสพ ร่วมกับกรมศิลปากร และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ตามพระราชกระแสในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยครั้งนี้เป็นการแสดงโขนหน้าเวทีกลางแจ้ง บริเวณสนามหลวงด้านทิศเหนือ ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษาของวิทยาลัยนาฏศิลป์ รวมถึงครูอาจารย์ด้านนาฏศิลป์ ที่เคยร่วมแสดงความพระราชทานมาแล้ว ทุกคนล้วนต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการถวายงานเป็นครั้งสุดท้าย พร้อมทั้งจะได้ถวายความจงรักภักดีและถวายความอาลัยแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการซ้อมร่วมกันที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ ศาลายา จ.นครปฐม
ทางด้านอาจารย์ประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้ออกแบบและจัดทำบทโขนพระราชทาน เปิดเผยว่า ได้คัดเลือกตอนการแสดงจำนวน 3 ตอนใหญ่ คือ รามาวตาร, สีดาหายและพระรามได้พล, ขับพิเภก ซึ่งรูปแบบการแสดงครั้งนี้เป็นรูปแบบการแสดงโขนถึงฉาก มีฉากประกอบบางฉากตามท้องเรื่อง นำเทคนิคการใช้มัลติวิชั่นเข้าประกอบเหตุที่ใช้รูปแบบการแสดงเช่นนี้ เพราะโขนพระราชทานได้รับความนิยมอย่างมากจากการแสดงโขนฉาก แต่เนื่องจากเป็นการแสดงบนเวทีกลางแจ้ง จึงไม่สามารถจัดฉากประกอบได้อย่างเต็มรูปแบบ นอกจากความสนุกสนาน ความงดงามตระการตา ได้ปรับเปลี่ยนสอดแทรกเทคนิค ชั้นเชิงทางศิลปะการขับร้อง การแสดงดนตรีท่ารำ ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องคุณธรรมแห่งความจงรักภักดีของตัวละคร สะท้อนให้เห็นถึงความจงรักภักดี ของผู้ปฏิบัติงานในการจัดแสดงโขนพระราชทาน และประชาชนคนไทยที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9
สำหรับการแสดงความพระราชทานครั้งนี้ จะใช้ผู้แสดงมากถึง 300 คน มากกว่าโขนพระราชทานที่จัดแสดงปกติที่ใช้ผู้แสดง 200 คน การจัดทำเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับโขน จึงต้องเพิ่มเติมและถูกต้องตามโบราณราชประเพณีรวมถึงอุปกรณ์ประกอบฉากต่างๆคาดแล้วเสร็จกลางเดือน ก.ย.นี้ .-สำนักข่าวไทย