กรุงมะนิลา 6 ส.ค.- รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีนเห็นชอบแนวทางประมวลการจัดทำการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ ขณะที่อาเซียน-อียูเตรียมแถลงการณ์ร่วมเดินหน้าทำงาน เชื่อการรวมตัวระดับภูมิภาคจะรับมือความท้าทายระดับโลกได้
การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน วันที่ 2 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์วันนี้ (6 ส.ค.) อาเซียนมีกรอบการประชุมร่วมกับประเทศคู่เจรจาหลายประเทศ ซึ่งเวทีที่ได้รับความสนใจมากคือการประชุมอาเซียน-จีน โดยนายดอน ปรมัติถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบแนวทางประมวลการจัดทำการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ ซึ่งเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-จีนได้ยกร่างเสร็จแล้ว และจะประกาศอย่างเป็นทางการในการประชุมระดับผู้นำอาเซียนในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อเริ่มต้นเจรจาต่อไป
ด้านน.ส.บุษฎี สันติพิทักษณ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยผลการประชุมอาเซียน-อียู ซึ่งนายดอน ปรมัติถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งประเทศไทยทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-อียูตั้งแต่ปี 2015-2018 ขณะที่อาเซียน-อียูมีความสัมพันธ์ครบ 40 ปีแล้ว สิ่งที่ไทยดำเนินการเมื่อปีที่แล้ว โดยจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน-อียูและออกเอกสาร Bangkok Roadmap เกี่ยวกับทิศทางความสัมพันธ์ซึ่งมีหลายมิติ ทั้งการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม
“อาเซียนและอียู ตระหนักร่วมกันว่าการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันผ่านถ้อยแถลงร่วมในวันนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญฉลองความสัมพันธ์ครบ 40 ปี ขณะเดียวกันยังครบรอบการจัดตั้งสหภาพยุโรปครบ 60 ปี และอาเซียนครบ 50 ปี ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นว่าช่วงระยะ 4 ทศวรรษที่ผ่านมา การรวมตัวกันในภูมิภาคมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุโรปและมีบทบาทสำคัญในเวทีโลก” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว
น.ส.บุษฎี กล่าวว่า หลักการการรวมตัวขององค์กรในระดับภูมิภาคจะรับมือความท้าทายระดับโลกได้อย่างดี โดยอาเซียนและอียูจะร่วมกันบูรณาการองค์กรในระดับภูมิภาคในลักษณะหุ้นส่วนต่อกัน ทั้งนี้ พลวัตความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-อียู มีความสำคัญ เนื่องจากทั้งสองภูมิภาคมีประชากรรวมกันร้อยละ 18 ของประชากรโลก และจีดีพีร้อยละ 26 ของโลก
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายยึดมั่นที่จะดำเนินความสัมพันธ์บนพื้นฐานบทบาทสหประชาชาติ กฎหมายระหว่างประเทศและสนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือและมิตรภาพเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอียูเข้าร่วมภาคีปี 2012 นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายยึดมั่นในพันธกรณีที่จะช่วยกันบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาติ ที่จะช่วยส่งเสริมปกป้องสิทธิมนุษยชน เคารพเรื่องของนิติรัฐ การส่งเสริมสถานภาพสตรี
“อาเซียน-อียูจะเดินหน้าทำงานร่วมกันในความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วน เพิ่มพูนการค้า การลงทุนระหว่างกัน พัฒนาด้านพลังงาน พัฒนาอุตสาหกรรมด้านการบิน การเมือง ความมั่นคง ความร่วมมือระดับประชาชนกับประชาชน การแลกเปลี่ยนด้านการศึกษา การรับรองแผนปฏิบัติการร่วมอาเซียน-อียู ปี 2018-2022 ซึ่งมีโครงการหลากหลายที่จะแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ความร่วมมือในการรับมือกับภัยความมั่นคงในรูปแบบใหม่ ความมั่นคงทางไซเบอร์ การป้องกันปัญหาการก่อการร้าย” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว.-สำนักข่าวไทย