ระยอง 5 ส.ค.- กรธ.เพิ่มโทษผู้สมัคร ส.ส.ไม่ใช้สิทธิเลือกตั้ง ให้ถูกตัดสิทธิลงสมัคร 2 ปี ขณะที่ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องพ้นจากตำแหน่ง และกำหนดไม่ให้มีเบอร์พรรค แต่เป็นเบอร์ผู้สมัครแต่ละเขตเท่านั้น พร้อมกำหนดค่าสมัคร 10,000 บาท เว้นได้คะแนนเสียงร้อยละ 5 ขึ้นไป จะได้คืน 5,000บาท
นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กรธ. ได้ข้อสรุปเบื้องต้นของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยในประเด็นที่น่าสนใจ คือ การเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จะถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นระยะเวลา 2 ปี ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น โดยมีการเพิ่มเติมตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ ส.ว. รวมถึง ตำแน่งทางการเมืองและองค์การอิสระด้วย นอกจากนี้ กรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะต้องพ้นจากตำแหน่งด้วย
นายนรชิต กล่าวว่า ส่วนการยื่นหลักฐานการสมัครรับเลือกตั้ง ผู้สมัครจะต้องแสดงหลักฐานการเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปี และเสียค่าธรรมเนียมการสมัครคนละ 10,000 บาท แต่จะได้คืนจำนวน 5,000 บาท หากผู้สมัครนั้นๆ ได้รับคะแนนมากกว่า 5% ขึ้นไปของจำนวนผู้ลงคะแนนเสียงในแต่ละเขต
“นอกจากนี้ กรธ. กำหนดให้แต่ละเขตเลือกตั้ง เป็นผู้ดำเนินการจัดลำดับหมายเลขผู้สมัคร โดยที่ผู้สมัครจากพรรคการเมืองเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องได้หมายเลขเดียวกัน เช่น กรณีที่ผู้สมัครมาถึงก่อนเวลาพร้อมกัน ให้ใช้วิธีจับสลาก เพื่อให้ผู้สมัครคนดังกล่าวได้แสดงความสามารถ โดยไม่ต้องอิงกับกระแสพรรคการเมือง ซึ่ง กรธ.เชื่อว่าจะสามารถป้องกันการซื้อเสียงได้ระดับหนึ่ง” นายนรชิต กล่าว
นายนรชิต กล่าวว่า ส่วนการนับคะแนน กรธ.เห็นว่า ควรให้นับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งทันที หลังหมดเวลาหย่อนบัตร เพื่อให้ทราบผลเร็วขึ้น อีกทั้งประชาชนสามารถสังเกตการณ์นับคะแนนได้ที่หน่วยได้ ไม่ต้องรอเวลาการขนย้ายหีบบัตรไปรวมที่เขต พร้อมกันนี้ กรธ.ยังปรับเวลาการหย่อนบัตรอีก 1 ชั่วโมง คือ ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น.
นายนรชิต กล่าวว่า นอกจากนี้ ในบทเฉพาะกาล มาตรา 20 (3) ที่ให้ยกเว้นการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองแสดงความคิดเห็นในการแบ่งเขตเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งแรกนั้น กรธ.ได้ตัดออกไป เพื่อให้ กกต.ดำเนินการหารือการแบ่งเขตกับพรรคการเมืองได้ พร้อมปรับเพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละหน่วย จากเดิม 800 คน เพิ่มเป็น 1,000 คน โดยไม่จำเป็นต้องใช้เขตหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้งตายตัว เพื่อความสะดวกของประชาชน ส่วนการปิดบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ให้ปิดที่หน้าหน่วย โดยไม่เปิดเผยหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน
นายนรชิต กล่าวว่า สำหรับการหาเสียงผ่านออนไลน์ ผู้สมัครจะต้องแจ้งให้ กกต.ทราบก่อน และห้ามใช้ช่องทางนี้หาเสียงเพิ่มเติมในช่วง 3 วันสุดท้ายก่อนลงคะแนนเสียง เว้นแต่เป็นข้อมูลที่มีอยู่แล้ว ในส่วนของการทำโพลสำรวจ กรธ.เห็นว่าไม่ควรมี แต่ยังไม่ได้กำหนดเป็นข้อห้าม โดยให้ กกต.ไปพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ เช่นเดียวกับการใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ กรธ.ไม่ขัดข้อง แต่มีเงื่อนไขว่า การนำเครื่องดังกล่าวมาใช้จะสามารถขจัดทุจริตได้ดีกว่าการใช้บัตรเลือกตั้ง และค่าใช้จ่ายจะต้องไม่แพงกว่าเดิม รวมทั้ง ต้องมีหลักรับประกันว่า การลงคะแนนจะต้องเป็นความลับ .- สำนักข่าวไทย
