กรุงมะนิลา 5 ส.ค.-โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุ สัมพันธ์อาเซียน-อียูก้าวหน้า เตรียมขยายความร่วมมือหลายด้าน ทั้งที่เป็นประโยชน์ต่อภูมิภาค และตอบสนองปัญหาของโลก
น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึง บทบาทของไทยต่อการเป็นผู้ประสานงานอาเซียน-อียู ว่า ปีนี้เป็นปีที่ความสัมพันธ์อาเซียน-อียู ครบ 40 ปี ทั้ง 2 ฝ่ายประชุมร่วมเมื่อเดือนตุลาคม 2559 ขณะที่ ไทยมี Bangkok Roadmap วางทิศทางความสัมพันธ์ช่วงต่อไป เป้าหมายคือ การเพิ่มพูนความร่วมมือการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ที่จะมุ่งไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ซึ่งจะต้องแสวงหาจุดร่วมให้มากขึ้น
“ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งนี้ จะต้องมีเอกสารต่าง ๆ ออกมา ต้องมีแผนความร่วมมือของสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ส่วนกับอียู จะมีแผนความร่วมมือในรูปของโครงการ กิจกรรมต่างๆ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาแผนปฎิบัติการความร่วมมือ ระหว่างปี 2018-2022 ซึ่งอียูก็มีแผนดำเนินการหลายเรื่อง อาทิ เรื่องทรัพยากร การรวมตัวในภูมิภาค ซึ่งเราได้เรียนรู้จากเขาด้วย ทั้งเรื่องเศรษฐกิจการค้า การลงทุน”โฆษกกระทรวงต่างประเทศ” น.ส.บุษฎี กล่าว
น.ส.บุษฎี กล่าวว่า สิ่งสำคัญอีกเรื่องระหว่างอาเซียน-อียู คือเรื่องการศึกษา เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย สำหรับเรื่องที่ไทยขับเคลื่อน และได้รับการตอบสนองจากอียูเป็นอย่างดี คือ เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นเป้าหมายเดียวกัน
ส่วนความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างอาเซียน-อียู น.ส.บุษฎี กล่าวว่า มีความร่วมมือกันหลายด้าน โดยเฉพาะความมั่นคงในรูปแบบใหม่ อาทิ การเคลื่อนย้ายแรงงาน โรคภัยต่าง ๆ ความมั่นคงด้านไซเบอร์ ซึ่งเป็นเรื่องของการจัดการปัญหาความมั่นคงด้านชายแดน โดยทางยุโรปมีพัฒนาการเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างดี ด้วยภูมิประเทศที่ติดกัน ความสัมพันธ์แบบไม่มีพรมแดน จึงมีระบบที่ดีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราเรียนรู้ เพื่อนำมาปรับใช้
“อาเซียน-อียูมีความสัมพันธ์ที่หลากหลาย ครอบคลุมหลายด้าน และมีพัฒนาการดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะความร่วมมือที่จะเป็นประโยชน์และตอบสนองต่อปัญหาระดับโลก” น.ส.บุษฎี กล่าว .- สำนักข่าวไทย
